สธ. 7 มี.ค.-กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์หมอกควันและเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนในภาคเหนือใกล้ชิด แนะกลุ่มเสี่ยง ‘ผู้มีโรคประจำตัว-สูงอายุ-เด็กเล็ก-หญิงตั้งครรภ์’ ควรสวมหน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งหรืออยู่นอกอาคาร
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ทำให้สภาพอากาศในช่วงนี้ร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น จึงอาจส่งผลให้เกิดไฟป่าได้ง่าย ประกอบกับมีการลักลอบเผาในที่โล่ง ดังนั้นปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ จึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่ พบว่า วันที่ 6 มี.ค.2560 มีพื้นที่ในภาคเหนือที่มีค่าเฉลี่ยหมอกควันเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ 2 พื้นที่ในจังหวัดลำปางคือ ต.พระบาท อ.เมือง และ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ โดยพบปริมาณค่าฝุ่นละอองในอากาศ 158 และ 169 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ
นอกจากนี้ หลายจังหวัดภาคเหนือเริ่มมีหมอกควันกระจายในบางพื้นที่ โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณหมอกควันมากคือ พื้นที่ใน อ.เมือง จ.ลำพูน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน อ.เมือง จ.พะเยา และ อ.เมือง จ.แพร่
นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ค่าฝุ่นละอองในอากาศ หากมีค่ามากกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานาน ปิดประตูหน้าต่างไม่ให้ควันไฟหรือหมอกควันเข้าในอาคาร โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพง่ายกว่าคนทั่วไป คือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์ หากจำเป็นต้องอยู่นอกอาคารควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการสูดละอองหมอกควันเข้าปอด
สำหรับอันตรายของฝุ่นละอองหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่า เผาขยะ เผาวัชพืช ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคตาอักเสบ และ 4.โรคผิวหนังอักเสบ จากรายงานผลการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควันใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลําปาง ลําพูน พะเยา แพร่ และน่าน) ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ.2560 มีรายงานผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังจำนวนทั้งสิ้น 51,612 ราย โดยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบผู้ป่วยสูงผิดปกติใน 4 กลุ่มโรคดังกล่าว
สำหรับผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพจะขึ้นกับระยะเวลาการสัมผัส อายุ ความต้านทานแต่ละบุคคล ความเข้มข้นของมลพิษ ประวัติการป่วยเป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจและอื่นๆ โดยอาการป่วยเริ่มตั้งแต่ขั้นเล็กน้อยจนถึงรุนแรง กลุ่มเสี่ยงจึงควรเฝ้าระวังสุขภาพอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที
ทั้งนี้ สธ.โดยกรมควบคุมโรค เฝ้าระวังสถานการณ์สุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยเตรียมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) พร้อมลงพื้นที่ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทันที รวมถึงมีการประสานงานกับหน่วยงานในทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาหมอกควันร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต้องหมั่นติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันให้ปลอดภัยจากหมอกควัน โดยปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก และสวมหน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆปิดปากและจมูกและเปลี่ยนทุกวัน ส่วนกรณีที่ขับขี่ยานพาหนะในช่วงที่มีหมอกควันมาก ทัศนะวิสัยไม่ดี ควรเปิดไฟ หน้ารถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 .-สำนักข่าวไทย