กรุงเทพฯ 18 พ.ย. -ปตท.ยืนยันดูแลราคาน้ำมันไม่ให้กระทบ แม้จะแยกธุรกิจค้าปลีกทั้งน้ำมันและแอลพีจี เป็นบริษัทกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) เพื่อโปร่งใสและเป็นไปตามรัฐธรรรมนูญใหม่ ส่วนการค้าน้ำมันเพื่อความมั่นคงทั้งภาคราชการ-รัฐวิสาหกิจ เช่น ขสมก. รฟท. ยังอยู่กับ ปตท.ต่อไป
ภายหลัง คณะกรรมการ บมจ.ปตท.เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ ปตท. โดยให้แยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ออกมาเป็นบริษัทและกระจายหุ้นในอนาคตนั้น ทางผู้บริหาร ปตท. ได้ชี้แจงต่อพนักงาน สื่อมวลชน และนักวิเคราะห์ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ยืนยันว่า การตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ปตท. ได้ศึกษาแนวทางอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งพนักงาน ปตท. ประชาชนผู้ใช้บริการและพันธมิตรธุรกิจ รวมถึงยังคงเจตนารมณ์การเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยในส่วนของการค้าปลีกน้ำมัน ทุกอย่างยังเป็นไปตามกระบวนการเดิม เช่น กลไกราคา ไม่กระทบประชาชน ซึ่งปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันและแอลพีจี จะขึ้นลงตามกลไกราคาตลาดโลก และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงพลังงาน
นายเทวินทร์ กล่าวว่า การค้าน้ำมันกับภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อความมั่นคงในส่วนนี้จะไม่แยกออกไปยังบริษัทใหม่แต่อย่างใด รวมถึงคลังแอลพีจีเขาบ่อยาที่สร้างขึ้นมาใหม่ ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้สร้างเพื่อการอุดหนุนการนำเข้าแอลพีจี ก็จะยังคงอยู่กับ ปตท. ส่วนพนักงาน ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่มีประมาณ 1,500 คน จาก พนักงานทั้งหมด 4,000 คน นั้น ทาง ปตท.เปิดทางเลือกว่า พนักงานจะอยู่กับ ปตท.หรือจะโอนไปเป็นพนักงานของบริษัทใหม่ ซึ่งจะมีผลตอบแทนที่เหมาะสม ส่วน ระยะเวลากระจายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก หรือ ไอพีโอยังไม่สามารถระบุได้เพราะต้องดำเนินการทั้งของความเห็นชอบจากภาครัฐและผู้ถือหุ้นที่ปกติจะมีการประชุมในเดือนเมษายนของทุกปี
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. กล่าวว่า การปรับโครงสร้างฯครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจน้ำมันให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงขยายตัวสู่ธุรกิจค้าปลีกไปสู่ต่างประเทศ และยังเป็นการดำเนินการรองรับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้ธุรกิจใดที่เอกชนแข่งขันได้โดยสมบูรณ์ ก็ไม่ควรให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ปตท. มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ ปตท. โดยให้แยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมาอยู่ภายใต้ บริษัท ปตท. ธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ (“PTTRB”) ที่จะทำการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (“PTTOR”) ในลำดับต่อไป เพื่อให้บทบาทหน้าที่แต่ละกลุ่มธุรกิจมีความชัดเจนโปร่งใส คล่องตัวและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และให้ PTTOR เป็นบริษัทแกน (Flagship Company) ของกลุ่มปตท. ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและ ค้าปลีก โดยธุรกิจที่ถูกโอนย้าย ประกอบด้วย 1.ธุรกิจน้ำมัน ประกอบด้วยค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการทั้งในและต่างประเทศ ค้าเชิงพาณิชย์น้ำมัน แอลพีจี และเชื้อเพลิงอื่นๆ อาทิ จำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยาน จำหน่ายแอลพีจีในครัวเรือนและสถานีบริการ ฯลฯ จำหน่ายเชื้อเพลิงหล่อลื่นทั้งในและต่างประเทศ และบริหารโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจน้ำมัน อาทิ ด้านขนส่งหรือจัดเก็บ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ตอบสนองต่อลักษณะการเติบโตของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และ 2. ธุรกิจค้าปลีกด้านอื่นๆ และให้บริการด้านบำรุงรักษายานยนต์ จะครอบคลุมการบริหารค้าปลีกและงานขายภายใต้แบรนด์ ปตท. และอื่นๆ อาทิ คาเฟ่อเมซอน ฟิตออโต้ รวมถึงริเริ่มสร้างธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม แฟรนไชส์และโรงแรม
ปัจจุบัน ปตท.มีปั๊มน้ำมันรวมประมาณ 1,400 แห่ง เป็นปั๊มของดีลเลอร์ประมาณ 1,000 แห่ง มีนโยบายในการช่วยยกระดับและพัฒนาภาคธุรกิจรายย่อยของไทย ทั้งเอสเอ็มอีและโอทอปซึ่งมีผู้ประกอบการเกี่ยวข้อง 1,600 ราย มีการจ้างงานเกี่ยวข้องรวม 50,000 ตำแหน่ง โดยการปรับโครงสร้างครั้งนี้มี บล.ภัทร เป็นที่ปรึกษา โดยงบการเงินรวมเสมือน ณ วันที่ 30 ก.ย.2559 ธุรกิจนี้ มีสินทรัพย์รวมหลังรับโอนกิจการ 86,405 ล้านบาทมีหนี้สินรวม45,952 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น 40,453 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการจำหน่านรวม 353,613 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 13,577 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย