รัฐสภา 1 มี.ค.- อดีตสมาชิก สปช. เตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดการทรัพย์สินวัด ต่อสมเด็จพระสังฆราชและนายกรัฐมนตรี เพื่อสอดรับพระธรรมวินัย ป้องกันสงฆ์ยุ่งเกี่ยวการเงิน มั่นใจ พระธัมมชโยยังอยู่วัดพระธรรมกาย
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตนมีหนังสือกราบทูลถึงสมเด็จพระสังฆราช พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ และร่างพ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณานำไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการเรื่องทรัพย์สินของวัดต่าง ๆ และของพระภิกษุเอง และปัญหาในการขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ศึกษาตีความพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่ให้มีผู้นำไปบิดเบือน เพื่อส่งเสริมให้กิจการพระพุทธศาสนาอยู่ในหลักการแห่งพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ตามเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งประเทศที่มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ มีหลักการและเหตุผล เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินของวัด และทรัพย์สินของพระภิกษุเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย เน้นหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพื่อการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัท และให้วัดที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตรับรองและส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนทราบ และทรัพย์สินของวัดให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์การที่จัดตั้งขึ้นโดยวัดหรือเกี่ยวเนื่องกับวัดด้วย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ ไม่ใช่ของพระภิกษุ แต่ให้พระภิกษุใช้จ่ายทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามความจำเป็นเพื่อการดำรงสมณเพศเพื่อประโยชน์แก่วัดและศาสนกิจเท่านั้น เมื่อพระภิกษุพ้นจากความเป็นพระภิกษุหรือมรณภาพ ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ และพระภิกษุจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของตนให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของวัดที่ตนสังกัดอยู่ทราบทุกปี
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาตินั้น เพื่อให้สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เป็นองค์กรทำหน้าที่ตีความพระธรรมวินัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย รวมทั้งรวบรวมและเผยแพร่พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ถูกต้องให้แก่พุทธศาสนิกชน ทั้งนี้ สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ จะมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 36 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งและการสรรหา
ประกอบด้วย พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิจากธรรมยุติกนิกายและมหานิกาย นิกายละ 2 รูป ซึ่งแต่งตั้งโดยมหาเถรสมาคม พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จำนวน 2 รูป และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจำนวน 2 รูป พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกโดยคณะกรรมการสรรหา จำนวน 10 รูป อาจารย์ผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่ใช่พระภิกษุ ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวน 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่พระภิกษุ ที่มีความรู้ทางพระธรรมวินัย ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวน 14 คน ทั้งนี้ ต้องมีสัดส่วนหญิงชายจำนวนเท่ากัน และพระภิกษุที่เป็นสมาชิกสภาฯ ต้องไม่มีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ แต่ไม่รวมถึงเจ้าอาวาส
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในเขตวัดพระธรรมกาย 196 ไร่ เนื่องจากมีหลักฐานหลายประการบ่งชี้ อาทิ มีการตรวจสอบพบว่า คนใกล้ชิดกับพระธัมมชโยทุกคนยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย จึงเป็น ไปไม่ได้ที่พระธัมมชโยจะอยู่นอกวัดเพียงลำพัง อีกทั้งยังมีการตรวจจับสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งคนใกล้ชิดกับพระธัมมชโย ได้โทรไปยังเบอร์โทรศัพท์มือถือของบุคคลหนึ่งในช่วงเวลา 04.00 น. ของวันเสาร์ที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. มีพระภิกษุและลูกศิษย์วัดพระธรรมกายจำนวนหลายพันคนได้บุกเข้ามาแหวกแนวกั้นของทางเจ้าที่ตำรวจเข้ามา เพื่อเพิ่มกำลังมวลชนเข้ามาอยู่ในวัด และต่อมา ทางวัดได้ประกาศไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าค้นวัดอีก ย่อมแสดงว่า ไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพบตัวพระธัมมชโย
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า เรื่องจะยุติได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ล้อมวัดพระธรรมกายจนอ่อนแรงและบุกเข้าไปจับกุมตัว หรือพระธัมมชโยเข้ามอบตัวเอง แต่กรณีนี้ ทางพระธัมมชโย เป็นห่วงว่า จะไม่ได้รับการประกันตัวและถูกจับสึก ดังนั้นจึงขอให้สังคมช่วยกันหาทางออกเพื่อให้พระธัมมชโยมอบตัว พร้อมขอให้กระบวนการยุติธรรมให้โอกาสโดยให้สามารถใช้สิทธิ์ประกันตัวได้.-สำนักข่าวไทย