กรุงเทพฯ 3 มี.ค.-” ธีรยุทธ” ชำแหละ 3 ปี คสช. คนไทยได้แค่ความสบายใจ ปฏิรูปไม่สำเร็จ ระวังจะเป็น “ตู่ต้นเตี้ย- ตู่เตี้ยลง” เหตุตั้งสารพัดกรรมการแต่ไร้ผลงาน ทำมนต์ขลังเสื่อม กลายเป็น “ยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง ” แต่เชื่อไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจประชาธิไตย แต่อย่าอยู่ในอำนาจเกินโรดแมป ควรเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านกายภาพ จัดการปัญหา ปตท.ไม่คืนท่อก๊าซ ฟื้นศรัทธาประชาชน
นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการจากวิทยาลัยวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงวิเคราะห์ทิศทางอนาคตการเมืองไทย ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช.ว่า กำลังวิ่งเข้าสู่วิถีอนุรักษ์และจารีตนิยมโดยมีความหวังในการปฏิรูประดับโครงสร้างอำนาจน้อยมาก เพราะผู้มีอำนาจล้วนเป็นข้าราชการ ที่จะเป็นผู้สูญเสียอำนาจหากมีการปฏิรูป ในขณะที่การดำเนินงานของคสช.อาศัยข้าราชการทุกหน่วยงานเป็นหลัก นโยบายก็เพิ่มอำนาจให้กับข้าราชการไม่มีการกระจายอำนาจให้กับประชาชน แม้จะมีการตั้งซุปเปอร์บอร์ด แต่กลับแต่งตั้งนายทหารเหล่าทัพต่างๆ จำนวนมากไปเป็นบุคคลากร ซึ่งไม่ปราฎผลงานปฎิรูปใด ๆ
นักวิชาการสาธารณะ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็เป็นเพียงรับงานตามความต้องการของ คสช.ไม่ได้ตั้งเป้าปฏิรูปองค์กร ส่วนบุคคลากรในแม่น้ำ 5 สาย เกือบทั้งหมดล้วนมีความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม แม้มีผลงานที่ดีอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีความหวังเรื่องการปฏิรูป ยังแสดงออกว่า จะผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจด้วย ดังนั้น จากเรือแป๊ะ แม่น้ำ 5 สาย จึงเริ่มกลายเป็น “ยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง ลากจูงอย่างทุลักทุเลมากขึ้น จนอาจเกยหาดหรือติดเกาะได้ถ้ายังฝืนอยู่ในอำนาจเกินโรดแมป”
นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า เกือบ 3 ปี จากการบริหารของ คสช.ถือว่าประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความสนุกสนาน ได้ความสบายใจ มีการจัดระเบียบ กำหนดนโยบายใหม่ แต่เชื่อว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจะไม่เกิดเพราะไม่อยากทำ รวมถึงการวางระบบและการบูรณาการต่างๆ ก็ไม่เห็นผล อย่างไรก็ตามไม่เชื่อว่า ความขัดแย้งแบบเก่าจะกลับมา เพราะไม่ง่ายที่จะปลุกระดม จึงไม่ห่วงเรื่องปรองดอง การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 2 ฝ่ายอยู่ในฐานะที่ชัดเจนแล้ว คือมองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายว่าจะแพ้ หรือชนะได้แน่นอนแล้ว หรือหากยื้อต่อไป ต่างฝ่ายจะสูญเสียเพิ่ม จึงหันมาพูดจากันเพื่อให้ทุกฝ่ายชนะคือ วิน วิน แต่อาจต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลต้องมีแนวนโยบายที่ถูกต้องทำงานปฏิรูปให้ได้ผล จะเป็นการช่วยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
นักวิชาการสาธารณะ กล่าวว่า มนต์ขลังจากการบริหารที่ประชาชนเห็นว่าทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเริ่มเสื่อม ส่งผลให้ความมั่นใจในรัฐบาลเริ่มคลอนแคลน แต่ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนโครงสร้างทางประชาธิปไตยจากสถานการณ์นี้ เพราะขณะนี้อยู่ในสภาวะสั่นไหว คลอนแคลน ก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่าเสียคำพูดเรื่องโรดแมปให้มีการเลือกตั้ง และต้องพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาหลังการเลือกตั้งต่อไป โดยควรมุ่งเน้นเกี่ยวกับงานโครงสร้างอำนาจ หรือการวางรากฐานเช่น การปราบคอรัปชั่น ที่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมถึงจัดการกับคดีใหม่เช่น เชฟรอน รถญี่ปุ่นเลี่ยงภาษี ปตท.ไม่ยอมคืนท่อก๊าซ ปราบปรามอิทธิพลนอกระบบให้มีความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยดึงศรัทธาจากประชาชนกลับมาได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจจะนึกถึงภาพรัฐบาล “ตู่ต้นเตี้ย หรือตู่เตี้ยลง” ก่อนที่จะจบโรดแมปของ คสช.
“ขอทำความเข้าใจว่า ตู่ต้นเตี้ย เป็นคำโบราณ หมายถึงว่าอย่ามายอฉันเลย เหมือนเตยต้นเตี้ย คือ เป็นคนดีแต่อาภัพ อับวาสนา ที่เปรียบแบบนี้ เพราะลุงตู่ชอบน้อยใจอยู่เรื่อยว่าทำงานเหนื่อย แต่ไม่มีคนเห็นใจ ส่วนตู่เตี้ยลง ก็เหมือนสาละวันเตี้ยลง แต่ลุงตู่ก็มีผู้สนับสนุน เดี๋ยวก็มีคนมาเชียร์ให้ลุกขึ้น เหมือนเพลง สาละวันลุกขึ้น ลุกขึ้นสาละวัน พุดแบบนี้เป็นการแหย่กันในเชิงกวี เพราะเห็นว่านายกก็เป็นนักเลงกลอน”นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ กล่าวว่า การบริหารของ คสช.ในขณะนี้ เริ่มอยู่ในสภาพเรือแป๊ะพายวน โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรการสร้างความปรองดอง และการวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ มีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุด กรรมการปฏิรูป 2 ชุดกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปีรวม 3 แผนใหญ่ แต่ไม่มีผลงานที่ให้ความมั่นใจได้ว่า จะแก้ปัญหาได้จริงแม้แต่ชุดเดียว จึงเห็นว่าคสช.ตั้งธงความคิดกับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศผิดพลาด เพราะไปมองว่า พรรคการเมือง นักการเมืองคือที่มาของวิกฤต เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ต้องทอนอำนาจและบทบาทหน้าที่ลง ทั้งที่ความจริงแล้ว จากความล้มเหลวที่ผ่านมาจะทำให้พรรคการเมืองจะต้องปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว จึงควรจัดวางยุทธศาสตร์ให้ภาคสังคม ประชาชน เข้ามามีสิทธิอำนาจควบคู่กับความรับผิดชอบมากขึ้น โดยสร้างความเข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลกับภาคการเมือง
นักวิชาการสาธารณะ กล่าวว่า ควรวางรากฐานความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเพื่อให้พ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซ้ำซ้อน และปัญหากลุ่มอุปถัมภ์ทั้งแบบหนี้บุญคุณให้หมู่คนจน และการอุปถัมป์ในระดับคนรวยที่เรียกว่า เป็นกลุ่มอุปถัมภ์อภิสิทธิ์ จากการสร้างเครือข่ายคอนเนกชั่นในกลุ่มผู้มีอำนาจ 5 กลุ่มประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่อยู่ในฝ่ายยุติธรรม บริหาร นิติบัญญัติ และงบประมาณ รวมถึงนักกรเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการแทคโนเครตต่าง ๆ ที่สร้างเครือข่ายผ่านหลักสูตรพิเศษจากหลายหน่วยงาน โดยเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเครือข่ายเหล่านี้ ทำให้เกิดผลกระทบด้านการตัดสินคดีความ การวางโปรเจคต่าง ๆ การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเมตตามหานิยม ตอบแทนซึ่งกันและกัน และยังเป็นห่วงเรื่องการยกระดับความเลวร้าย จากความตกต่ำด้านศีลธรรม ส่งผลต่อค่านิยมที่อาจพัฒนาไปถึงขั้นว่า จำเป็นต้องโกง ไม่โกงจะถูกกลั่นแกล้งจนอยู่ไม่ได้
นายธีรยุทธ ยังเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยให้รัฐบาลปฏิรูปประเทศ ในลักษณะให้แผนการดำเนินการไม่ใช่โปรแกรมทางความคิด โดยต้องแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ อาจใช้มาตรา 44 แบ่งงบประมาณไปช่วยคนจน และปฏิรูปการศึกษาแบบสองทาง คือสร้างระบบจูงใจแล้วคัดกรองครู ที่จะเข้าไปในสถานศึกษา เริ่มจากจังหวัดละหนึ่งแห่ง ภาคละหนึ่งแห่งแล้วจึงขยายต่อไป รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรให้ง่ายขึ้นเพื่อเหมาะสมกับโลกาภิวัฒน์ด้วย ให้รัฐบาลทำเป็นเรื่อง ๆ เชื่อว่าภายใน 6 เดือนก็จะเห็นผล แต่การปฏิรูปจะสำเร็จก็ขึ้นกับผู้มีอำนาจมีศิลปะในการใช้อำนาจหรือไม่ และมีเจตจำนงในการปฏิรูปหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ถืออำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษ ต้องยึดหลักการให้ว่าการปฏิรูปจะสำเร็จต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและต้องขยายอำนาจให้ประชาชนมาช่วยค้ำจุน อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยอาจต้องเดินไปตามบุญตามกรรม โดยไม่มีการปฏิรูปเพราะอาจเกินกำลังของกลุ่มบุคคลใด บุคคลหนึ่งเนื่องจากเมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาใหญ่ด้วยตัวเอง เชื่อว่าหลังรัฐบาล คสช.หมดอำนาจ ปัญหาที่มีการแก้ไขหรือจัดระเบียบไป 60-70 % จะกลับมาเหมือนเดิม
สำหรับการใช้มาตรา 44 ในการบริหารประเทศของรัฐบาลคสช.นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แม้ว่า รัฐบาลต่อไปจะไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษเช่นนี้ได้ ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาหลังการเปลี่ยนผ่านอำนาจ แต่ในขณะที่มีอำนาจพิเศษก็ควรใช้ได้ดีและเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยมีลักษณะยอมรับอำนาจนิยม แต่ผู้ใช้ก็ต้องใช้อย่างถูกต้อง ส่วนกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านการใช้อำนาจพิเศษ หากทำโดยบริสุทธิ์ ตนก็เห็นใจ เพราะก็เคยผ่านการต่อสู้เช่นนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวไม่ควรมีผลประโยชน์ ขณะที่ผู้มีอำนาจก็ควรให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการด้วยเพราะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้มีอำนาจและสังคม
อย่างไรก็ตามก่อนการแถลงข่าว นายธีรยุทธ ได้ออกตัวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เป็นศัตรู หรือผู้สนับสนุน คสช. แต่เป็นการทำงานทางวิชาการที่เคยทำมาตลอดทุก 1 ปี จะวิเคราะห์สถานการณ์ เพียงแต่ไม่ได้ทำมา 3 ปีแล้ว และเห็นว่าในขณะนี้มีความจำเป็นต้องแสดงความเห็นเพื่อเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม.-สำนักข่าวไทย