กรุงเทพฯ 19 พ.ย.- กฟผ. ร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 (COP22) ระหว่างวันที่ 7 – 18 พฤศจิกายน 2559 ณ เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อกโก มั่นใจลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย 4 ล้านตัน ภายในปี 2563 ยืนยันยังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อความมั่นคงพลังงานจนกว่า เทคโนโลยีพลังงานทดแทนจะพัฒนาพึ่งพาได้
นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะผู้แทน กฟผ. และ ผู้แทนภาคการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 (COP22) ณ เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อกโก เปิดเผยเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. ว่า กฟผ. ได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามความตกลงปารีสในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ได้มาจากการประชุม COP21 เมื่อปีที่แล้ว โดยประเทศไทยได้ปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP 2015 (พ.ศ. 2558 – 2579) ซึ่งจะมีการปรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าลงในช่วงปลายแผน และจะมีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย
ในช่วงแรก กฟผ. ได้ดำเนินการตาม NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Actions) หรือ แผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศโดยสมัครใจ ซึ่งประเทศไทยได้ส่งแผนไปว่า จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 7 – 20 จากระดับการปล่อยสภาวะเศรษฐกิจปกติ (Business as Usual : BAU) ภายในปี 2563 ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งจากการประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. จะรับผิดชอบลดก๊าซเรือนกระจก 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2563 โดยในปัจจุบัน กฟผ. ลดได้แล้วกว่า 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากมาตรการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า หลังจากนั้นประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตาม INDC (Intended Nationally Determined Contribution) หรือ เป้าหมายการดำเนินงานของประเทศในระดับมุ่งมั่น ซึ่งมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573 โดยในส่วนของ กฟผ. มีเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 12 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“ทั่วโลกได้กล่าวถึงการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในปี2593 ซึ่งจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึงร้อยละ 95 นั้น ในส่วนของประเทศไทย ได้ดำเนินการเต็มที่ และ กฟผ. ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทดแทน แต่เทคโนโลยีพลังงานทดแทนยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพื่อเพิ่มค่าความพึ่งพาได้ให้สูงขึ้น จึงยังต้องมีการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและราคาค่าไฟไม่สูงเกินไป และในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพลังงานทดแทนก้าวหน้าจนสามารถพึ่งพาได้มากขึ้น มีราคาที่เหมาะสม ประเทศไทยก็จะสามารถเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนและลดสัดส่วนการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้” นายวิวัฒน์ กล่าว -สำนักข่าวไทย