กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – จีพีเอสซีจีบมือพันธมิตรเดินหน้างานวิจัย ต่อยอดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนประสิทธิภาพสูงในไทย สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ตอบโจทย์กระแสการพัฒนาโรงไฟฟ้าทางเลือก
นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างจีพีเอสซี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และบริษัท 24M Technologies, Inc. (24M) ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อจะสามารถพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการของบริษัทฯ
“ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากศักยภาพของพันธมิตรที่มีจุดแข็งในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนระยะยาวให้เหมาะสมกับการรองรับการเติบโตของตลาดระบบกักเก็บพลังงานที่จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพในระบบสายส่งและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน” นายเติมชัย กล่าว
ทั้งนี้ จีพีเอสซีเป็นบริษัทฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท.และสามารถขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้อีกมากในอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ NSTDA โดยศูนย์ MTEC ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์ของประเทศ และบริษัท 24M Technologies, Inc. (24M) เป็นเจ้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนประสิทธิภาพสูงในสหรัฐ ดังนั้นนับว่าเป็นจุดแข็งของทั้ง 3 ฝ่ายที่จะร่วมกันพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่สอดคล้องกับทั้งตลาดเอเชีย และตลาดโลก ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสการลงทุนที่มีอนาคตของจีพีเอสซี เนื่องจากทิศทางของการใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ซึ่งจะเห็นว่าแบตเตอรี่คุณภาพสูงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพราะจะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในระบบที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนาร่วมกันยังเป็นการเสริมสร้างฐานองค์ความรู้ด้านแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทย รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจระยะยาว.-สำนักข่าวไทย