กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – กรมการขนส่งทางบกเร่งผู้ประกอบการขนส่งติดตั้ง GPS Tracking หากฝ่าฝืนไม่ต่อทะเบียน มั่นใจเป็นเครื่องมือป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนน การบริหารจัดการเดินรถให้มีประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศระยะยาว
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกติดตั้ง GPS Tracking และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ฯ GPS ทั้งสิ้น 92,745 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง 4,745 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 10,598 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทาง 30,778 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 19,980 คัน นอกนั้นเป็นรถอื่น ๆ โดยตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด รถโดยสาร 2 ชั้นทุกคันต้องติดตั้ง GPS Tracking และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS Tracking ภายในรอบปีภาษี 2559 เช่นเดียวกับรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น รถลากจูง และรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปที่ติดตั้ง GPS Tracking ไว้อยู่เดิม ต้องเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์ฯ GPS ภายในรอบปีภาษี 2559
“ขอให้ผู้ประกอบการขนส่งเร่งดำเนินการติดตั้ง GPS Tracking ตามระยะเวลาที่กำหนด รถที่ฝ่าฝืนจะไม่สามารถดำเนินการต่อทะเบียนได้ ในส่วนของรถที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่ยังไม่ได้ติดตั้ง กรมฯ ให้ระยะเวลาดำเนินการ โดยรถโดยสารสาธารณะและรถลากจูงต้องติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2560 ส่วนรถบรรทุกไม่ประจำทางต้องติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2561 และรถบรรทุกส่วนบุคคลต้องติดตั้งให้เสร็จภายในรอบปีภาษี 2562” นายสนิท กล่าว
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า โครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS จะสามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระยะยาว จากการออกแบบระบบที่มีการควบคุม กำกับ ติดตามพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน ทั้งเรื่องความเร็ว ชั่วโมงการขับรถ การใช้ใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้อง โดยศูนย์ฯ GPS ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้ทุกจังหวัดสามารถติดตามตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกอย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปบริหารจัดการติดตามการเดินรถทุกคันในเครือข่ายตนเองได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งได้อีกด้วย ตลอดจนประชาชนยังสามารถติดตามตรวจสอบการเดินรถทุกคันผ่านแอพพลิเคชั่น DLT GPS หากพบพฤติกรรมขับรถเร็วเกินที่กำหนดขับประมาทหวาดเสียวอันตราย บันทึกประวัติผู้ขับรถทุกราย พร้อมประสานผู้ประกอบการให้รับทราบปัญหา เพื่อการปรับปรุงพฤติกรรมการขับขี่ หากพบกระทำความผิดกรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย โดยการปรับ พักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิด ผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด โดยต้องไม่ขับรถเร็วหรือทำงานเกินเวลากว่าที่กฎหมายกำหนด มีใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้อง.-สำนักข่าวไทย