สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 21 ก.พ.- ชาวบ้านท่าแซะ ชุมพร ยื่นร้องกรรมการสิทธิฯ ถูกข่มขู่ หลังออกมาต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ
เมื่อเวลา 9.30 น. กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร นำโดยนางวัชรี จันทร์ช่วง ผู้ประสานงานกลุ่มฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ขอให้ตรวจสอบการสนับสนุนโครงการเขื่อนท่าแซะ จังหวัดชุมพร และการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
นางวัชรี กล่าวว่า เมื่อปี 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม เพราะมี โครงการแก้มลิงหนองใหญ่และคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมากลับมีกระแสข่าวว่าจะมีการเดินหน้าสร้างเขื่อนอีก ทำให้ชาวบ้านเริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน วันที่ 9 มกราคม มีทหารไปที่บ้านของ แกนนำชาวบ้านคนหนึ่ง พร้อมกับพูดในทำนองข่มขู่ว่าอย่าพาชาวบ้านออกมาคัดค้าน
จากนั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ก็มีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กรมชลประทาน กรมป่าไม้ ผู้นำท้องถิ่น และนายทหารจากมณฑลทหารบกที่ 44 ในค่ายเขตอุดมศักดิ์ เพื่อที่จะผลักดันการสร้างเขื่อนท่าแซะ และให้ผู้นำท้องถิ่นและกรมชลประทาน เข้าสำรวจพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยไม่ได้ถามชาวบ้านว่าต้องการเขื่อนหรือไม่
ต่อมาวันที่19 กุมภาพันธ์ทหารจากมณฑลทหารราบที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 นำกำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวน 20 นาย เดินทางไปในพื้นที่เพื่อเชิญตัวแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านจำนวน 15 รายไปคุยที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ แต่ชาวบ้านเห็นว่าถ้าจะพูดคุยกันควรเป็นการคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ชาวบ้านกว่า 200 คน จึงเดินทางไปค่ายเขตอุดมศักดิ์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์เมื่อพูดคุยกันแล้วชาวบ้านได้แสดงเจตนา ว่าจะเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนต่อรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิ กรณีถูกข่มขู่และละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่ แต่ช่วงค่ำระหว่างจะเดินทางก็กลับถูกทหารสกัดกั้น จนชาวบ้านต้องใช้วิธีแยกย้ายกันเดินทางทางในเส้นทางอื่น เพื่อมายื่นหนังสือต่อ 2 หน่วยงานในเช้าวันนี้ (21 ก.พ.)
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการพัฒนาของชุมชน และเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทาง ส่วนกรณีการคัดค้านเขื่อนท่าแซะนั้น ชาวบ้านได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. แล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 และ กสม. เคยประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่รวมทั้งกรมชลประทาน
โดยมีมติร่วมกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 คือ 1.ตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลุ่มน้ำชุมพรโดยประชาชนมีส่วนร่วม 2. ให้กรมชลประทานชะลอโครงการเขื่อนท่าแซะก่อน และ 3. ให้หน่วยงานระดับจังหวัดและกรมชลประทานร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม พบว่าขณะนี้ยังมีความพยายามเดินหน้าการสร้างเขื่อน ซึ่งขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 ที่ให้ชะลอโครงการดังกล่าวเอาไว้ก่อนด้วย กสม.จึงจะรับเรื่องไว้พิจารณาเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลต่อไป
สำหรับโครงการเขื่อนท่าแซะ เป็นโครงการสร้างเขื่อนความจุประมาณ 157 ล้าน ลบ.ม. บนพื้นที่น้ำท่วม 6,800 ไร่ จะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ประมาณ 1,600 ไร่ และส่งผลกระทบต่อที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ประมาณ 500 ครัวเรือน โดยที่ผ่านมาชาวบ้านเสนอให้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบของฝายชุมชน-ฝายมีชีวิตตามลุ่มน้ำสาขาขนาดเล็กแทน.-สำนักข่าวไทย