รัฐสภา 16 ธ.ค.- ประธาน กรธ. เผยร่างพรป.กกต.ติดดาบให้กกต.หลายเรื่อง เพิ่มงบลับให้สืบสวนหาตัวคนทุจริตเลือกตั้ง ปรับเพิ่มเงินให้กกต.อยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี โต้ “สมชัย” ข้อเสนอผู้ตรวจการเลือกตั้งตอบโจทย์กว่ากกต.จังหวัด เป็นทางออกช่วยป้องกันทุจริตเลือกตั้งได้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้อยู่แล้วในร่างรัฐธรรมนูญ ยึดตามร่างที่กกต.ส่งมา แต่ปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก และมีความหวังว่าจะทำให้กกต.มีอำนาจในการทำงาน โดยเฉพาะการเปิดให้กกต.คนเดียว สามารถยุติระงับยับยั้งกรณีที่พบการทุจริตได้ และเพื่อให้กกต.ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ จึงจัดให้มีงบลับในการสืบสวนหาข้อมูลต่าง ๆ เหมือนสำนักข่าวกรอง
ประธาน กรธ. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน จึงปรับเพิ่มเงินค่ารับรองให้กกต. และอาจจะให้ได้รับเบี้ยประชุม เพื่อทำให้กกต.อยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี และคุ้มกับการให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา จึงกำหนดคุณสมบัติของกกต.ไว้ว่าต้องซื่อสัตย์สุจริตและต้องกล้าหาญในการทำงานอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งยังกำหนดให้กกต.สามารถทำงานหาข้อมูลและลงมือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องมีผู้ร้อง กรธ.พร้อมรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ และพร้อมที่จะปรับแก้ตามความเหมาะสม
นายมีชัย กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ระบุผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่ช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยเฉพาะคุณสมบัติที่กำหนดไว้จะทำให้ได้ข้าราชการเกษียณอายุแและคนที่ว่างงานเข้ามาทำหน้าที่ว่า หากมีข้อเสนอมา กรธ.พร้อมทบทวน คุณสมบัติที่เขียนไว้ในร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดใหม่ จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ประธาน กรธ. กล่าวว่า เหตุผลที่กรธ.เปลี่ยนกกต.จังหวัดมาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะกกต.จังหวัดเดิม อยู่ประจำที่ และใช้ข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งกกต.บอกเองว่าไม่ไว้ใจกระทรวง ทบวง กรม ในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งกกต.จังหวัดตั้งจากข้าราชการ และเมื่ออยู่ประจำที่ มีอำนาจไต่สวนเอง จะทำให้เกิดข้อครหาและทุกพรรคการเมืองก็กังวล จึงคิดว่ากกต.จำเป็นต้องมีเครื่องมือ แต่ไม่ควรให้เกิดการฝังรากหรือเกิดอิทธิพล
นายมีชัย กล่าวว่า กกต.ทำหน้าที่เฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ หรือเลือกตั้งย่อย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นทุกจังหวัดพร้อมกัน ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นมี ผอ.เลือกตั้งดำเนินการอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบ ดังนั้นหากเอาคนนอกพื้นที่มาทำหน้าที่ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบ จึงกำหนดให้มีคนในพื้นที่ 2 คน และที่เหลือเป็นคนนอกพื้นที่ เพื่อผสมผสาน ซึ่งคิดว่าเป็นวิธีที่ดีแล้ว ส่วนที่นายสมชัย ระบุว่าหากมีปัญหา คนที่คิดเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบนั้น นายมีชัย กล่าวว่า หากปัญหาเกิดจากการไม่ทำตามกติกา จะโทษคนที่ยกร่างกฎหมายได้อย่างไร
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด โดยเขียนไว้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ พ.ร.ป.กกต. ว่า ด้วยนวัตกรรมใหม่ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” คือ 1. คุณสมบัติ ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ที่ปรึกษาหน่วยงานราชการ พ้นจากเป็นสมาชิกพรรค 5 ปี ไม่เป็นญาติ หรือเป็นผู้สมัครเลือกตั้ง ก็จะเหลือคนที่เป็นได้คือ 1.ข้าราชการหรือคนที่เกษียณ 2.นักธุรกิจ หรือลูกจ้างเอกชน 3. เอ็นจีโอ 4.คนที่ยังไม่มีงานทำ ซึ่งนักธุรกิจและลูกจ้างเอกชนคงไม่สามารถมีเวลาในการทำงานเต็มเวลาได้ ก็จะเหลือคนสองกลุ่ม ที่พร้อมมาทำหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ ข้าราชการหรือคนที่เกษียณ และ คนว่างงานเท่านั้น
นายสมชัย กล่าวต่อว่า 2.การปฏิบัติหน้าที่ให้จับสลากคนจำนวน 2 คน ทำงานในจังหวัดที่ตนเองมีภูมิลำเนา และจับสลากคนจำนวน 3 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดอื่นที่มิใช่ภูมิลำเนาตนเอง ซึ่งจะมีปัญหาในส่วนที่สอง ว่าคนมีความพร้อมในการไปปฏิบัติหน้าที่ในทุกจังหวัดที่ถูกส่งไปหรือไม่ เช่น ภูมิลำเนาอยู่ กทม. ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ แม่ฮ่องสอน หรือ ปัตตานี เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม ในทางปฏิบัติ จะเป็นไปได้หรือไม่ 3. ความรอบรู้ปัญหาในพื้นที่ บุคคลที่ถูกตั้งมาทำงานแบบชั่วคราวเพียง 2 เดือน หรือถูกส่งเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ตนเองมิได้มีความคุ้นเคยในเวลาสั้นๆ จะเข้าใจในพื้นที่ เข้าใจลักษณะวัฒนธรรมทางการเมือง เข้าใจภาษา รู้ทันหัวคะแนน จนสามารถเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งอย่างได้ผลหรือไม่
นายสมชัย กล่าวว่า 4. ค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยประชุม สิทธิสวัสดิการที่เทียบเท่าพนักงานระดับสูง สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของคน 400 คน อาจสูงถึง 5,000 บาท ต่อวัน (ค่าเบี้ยเลี้ยง+ค่าเช่ารถ+ค่าที่พัก+ฯลฯ) หากคำนวณจากต้องปฏิบัติหน้าที่ 60 วัน ต้องใช้เงินในการนี้ถึง 120 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าหรือไม่ และ 5.ความรับผิดฐานะของผู้ตรวจการเลือกตั้ง มิใช่พนักงานของสำนักงาน กกต. ไม่สามารถดำเนินการทางวินัย ไม่ต้องกลัวการให้ออกจากราชการ โอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะล็อคตัวซื้อตัวให้สนับสนุนฝ่ายการเมือง จึงมีความเป็นไปได้ หากถูกจับได้ก็เพียงถูกให้ออกจากตำแหน่งที่ตนเองดำรงตำแหน่งในเวลาสั้นๆ 2 เดือนเท่านั้น จึงไม่ใช่กลไกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงครอบงำของฝ่ายการเมืองได้
“เรื่องนี้ คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ แต่ถ้าคิดว่า คิดดีแล้ว ก็พร้อมรับทำตามแนวคิด แต่ถ้าทำให้เต็มที่แล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งได้ โปรดโทษคนคิด”นายสมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย