กรุงเทพฯ 23 พ.ย. – เผยผลประชุมกบง. ได้วางแผนการขับเคลื่อนงานสมาร์ทกริด ระยะสั้น โดยกำหนดการพัฒนาเทคโนโลยี 5 ด้าน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ คือ แผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา จัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งกำหนดให้มีการดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อน 5 เทคโนโลยี ได้แก่ ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) การออกแบบกลไกราคาและสิ่งจูงใจ และการตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Pricing and Incentive Design and Demand Response: DR) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Micro Grid) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast System) ภายใต้ 3 เสาหลัก ดังนี้
1) เสาหลักที่ 1: การตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงาน 2) เสาหลักที่ 2: ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน 3) เสาหลักที่ 3: ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กและระบบกักเก็บพลังงาน
ทั้งนี้ แผนฯ ดังกล่าวจะมุ่งเน้นการศึกษาวิจัย การสาธิตนำร่อง และการเตรียมการเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ภายในปี 2564 รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านสมาร์ทกริดของประเทศ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและบุคลากร การสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเตรียมแหล่งเงินทุนสนับสนุน ตลอดจนการจัดทำร่างแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในระยะปานกลางเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการรวมกว่า 5 พันล้านบาท สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากแผนฯ นี้คือ ช่วยลดภาระการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภท Peaking Plant 350 MW สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) เข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยรองรับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 3.5 GW ณ ปี 2564 สอดคล้องตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (AEDP 2015) รวมทั้งเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ห่างไกล
ที่ประชุม กบง. เห็นชอบแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงานต่อไป – สำนักข่าวไทย