พม.24พ.ย.-พม.เร่งดำเนินการคุ้มครองคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ตั้งแต่พื้นที่ต้นทางในภูมิภาคจนถึงปลายทางใน กทม. พร้อมทั้งจัดระเบียบคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ในพื้นที่สนามหลวง อย่างต่อเนื่อง
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า ตามที่ผลสำรวจความเห็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯเรื่อง “คนกรุงเทพฯ รู้สึกอย่างไรเมื่อพบเจอคนเร่ร่อน” อยากแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมากนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.)ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งได้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในปี 2557 ทำให้การคุ้มครองคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง มีแนวทางการปฏิบัติเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
สำหรับการคุ้มครองคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ต้องได้รับความยินยอมจากคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งหลายกรณีที่หน่วยงานของรัฐเสนอความช่วยเหลือ แต่คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ปฏิเสธความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงฯ โดย พส. ได้ดำเนินการมาตรการสำคัญหลายประการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การจัดระเบียบคนขอทาน คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 พบว่า มีคนขอทานและคนเร่ร่อนที่ผ่านเข้าสู่การจัดระเบียบประมาณเกือบ 5,000 คน ซึ่งร้อยละ 60 ที่กลับคืนสู่ครอบครัว และร้อยละ 40 ที่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟู ปรับทัศนคติ และฝึกอาชีพตามโครงการธัญบุรีโมเดล และโครงการบ้านน้อยในนิคม และ การจัดระเบียบคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่งใน 20 สถานีรถไฟ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากสถานีรถไฟเป็นแหล่งที่มีคนเร่ร่อนพักนอนเป็นจำนวนมาก โดยลงพื้นที่ทุกวันจันทร์พุธและศุกร์ ระหว่างเวลา19.00-23.00 น.ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2559 พบว่า มีคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง 474 คน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ที่ไม่ต้องการรับความช่วยเหลือแต่อย่างใด และมีเพียงร้อยละ 20 ที่ขอความช่วยเหลือในเรื่องการส่งกลับภูมิลำเนาเดิม การทำบัตรประชาชน การส่งไปรักษาพยาบาล และการจัดหางานให้ทำ
นอกจากนี้ได้ดำเนินการจัดระเบียบคนเร่ร่อนคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สนามหลวงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในช่วงเวลาการเข้าถวายสักการะพระบรมศพ มีการแจกอาหารเป็นจำนวนมาก จึงเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง เดินทางมาจากพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีการจัดทีมบุคลากรลงพื้นที่ทุกวัน เวลา 20.30 – 01.00 น.โดยร่วมกับกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย (กอร.รส.) เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 ซึ่งขณะนี้ มีผลการดำเนินการจัดระเบียบฯ ตั้งแต่วันที่ 2 – 23 พฤศจิกายน 2559 พบกลุ่มเป้าหมาย 399 คน แบ่งเป็นคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง 240 คนและผู้ตกค้าง ผู้รอสักการะรอเข้าคิวในตอนเช้า 159 คน โดยกลุ่มเป้าหมาย ส่วนใหญ่ 287 คน ยินยอมเข้ารับบริการในบ้านมิตรไมตรี 2 และอีก 112 คน ได้ขอรับความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การส่งกลับภูมิลำเนาเดิม การส่งต่อหน่วยงานอื่น และการขอรับบริการที่พักของกรุงเทพมหานคร
สำหรับการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่ต้นทางในภูมิภาคเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กระทรวงฯโดย พส. ได้ทำบันทึกความร่วมมือ หรือ MOU กับเทศบาลนครทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันวางระบบการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือในพื้นที่ต้นทาง เป็นการป้องกันการเดินทางเข้าสู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของแต่ละเทศบาลอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย