ราชบุรี 25 ส.ค.- ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี แจงกรณีหญิงวัย 33 ปี เข้ารับการผ่าตัดคลอดบุตรแล้วเสียชีวิต หลังกลับไปพักฟื้นที่บ้าน พร้อมเร่งหาสาเหตุและรอผลชันสูตรทางนิติเวช ก่อนประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กระดับเขต คาดจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี น.พ.วิเชียร ตันสุวรรณนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี และ นพ.สมเกียรติ อรุณภาคมงคล รองผู้อำนวยการศูนย์ด้านบริการ ชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.กฤษณา แย้มอยู่ อายุ 33 ปี ว่า น.ส.กฤษณา บ้านอยู่ที่ จ.สมุทรสงคราม คลอดบุตรที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยแพทย์ผ่าตัดทำคลอดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม และให้นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจนสุขภาพดีขึ้น จากนั้นกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม เกิดอาการตาค้าง ชักเกร็ง ทำให้นายกนก ขุนพรหม สามีของ น.ส.กฤษณา พาตัวส่งโรงพยาบาลแม่กลอง 2 จ.สมุทรสงคราม และ น.ส.กฤษณา เสียชีวิตเวลาต่อมา หลังจากนั้นพ่อของผู้เสียชีวิตเดินทางมาที่ที่สำนักงานทนายความคู่ใจ ถนนแจ้งวัฒนะ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อขอความช่วยเหลือจากนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เนื่องจากลูกสาวคลอดลูกแล้วเสียชีวิตระหว่างกลับมาพักฟื้นที่บ้าน
น.พ.วิเชียร กล่าวว่า จากการสืบประวัติพบว่าผู้เสียชีวิตตั้งท้องที่ 2 และครั้งนี้มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพที่ 5 ก่อนผ่าตัดคลอดที่จุดฝากครรภ์ได้ตรวจวัดความดันพบว่ามีความดันสูง ไม่มีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เบื้องต้นมีแค่ภาวะความดันสูงขณะตั้งครรภ์ จึงเป็นภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด จากการที่ลูกดิ้นน้อยลงได้ส่งตรวจผลคลื่นหัวใจของเด็กในครรภ์พบว่าปกติอยู่ แต่มดลูกเรื่องของความดันอยู่ในช่วง 120 – 154 เมื่อเป็นเช่นนี้ได้มีการประเมินภาวะความพร้อมของแม่และเด็กในท้องด้วย จึงได้แจ้งให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจในการผ่าตัดคลอด หลังผ่าตัดเด็กคลอดมาแล้วพบว่ามีภาวะเลือดออกค่อนข้างมากขณะผ่าตัด และตัวรกเกาะติดแน่นบริเวณด้านหน้ามดลูก ซึ่งเป็นรอยผ่าตัดคลอดครั้งที่แล้วจากที่กรุงเทพฯ ซึ่งการที่มีเลือดออกมากนั้นในการให้ยาเพื่อให้บีบรัดมดลูกแข็งตัว เพื่อให้เลือดออกน้อยลงเป็นข้อห้ามกรณีมีภาวะความดันสูง แพทย์จำเป็นต้องใช้เทคนิคการผ่าตัดเย็บมดลูกทางเทคนิค เป็นการป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดจากที่ผ่าตัดมีเลือดออกแล้ว 600 ซีซี ถือว่าค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องเย็บมดลูกเพื่อป้องกันภาวะตกเลือดหลังจากที่คลอดไปแล้ว โดยใช้เวลาผ่าตัดประมาณกว่า 30 นาที
“หลังผ่าตัดทั้งวันที่ 1 และ 2 ทำให้ความดันลดลงมาตามลำดับ และได้กลับบ้านไป โดยคุณแม่ได้พามาตรวจตามนัด ความดันของแม่เด็กยังมีสูงอยู่เล็กน้อย ประมาณ 150 ต่อมาอีกประมาณ 15 วัน หลังคลอดได้ทราบข้อมูลจากทางญาติว่า ผู้ป่วยได้ให้นมบุตรอยู่มีการพูดคุยปกติ ประมาณตี 4 ครึ่งมีอาการชักเกร็ง ได้มีการนำส่งโรงพยาบาลแม่กลอง 2 ทราบว่ามีการกู้ชีพตลอดทางและเสียชีวิตก่อนที่จะถึงโรงพยาบาลแม่กลอง 2 พอทราบเรื่องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการประชุมหารือกันภายในโรงพยาบาลกัน พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ทั้งส่วนห้องผ่าตัดถือจุดความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งเรื่องผลทางนิติเวชทางโรงพยาบาลราชบุรี เพื่อหาสาเหตุ และรอผลการชันสูตรศพ ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กระดับเขต ซึ่งผลสรุปของคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเข้ามาร่วม ผลเป็นอย่างไรคงได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้” น.พ.วิเชียร กล่าว.-สำนักข่าวไทย