กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – ก.พลังงาน – กฟผ.ตามติดยอดใช้ไฟฟ้า หลังผลกระทบหนักจาก โควิด-19 อาจจะติดลบตามจีดีพีที่แบงก์ชาติคาด หดตัวร้อยละ 8.1 กระทบแผนนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจร ด้าน บี.กริม มั่นใจแผนเสรีก๊าซไม่กระทบตามปัญหาการเมือง
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า ในขณะนี้ กฟผ.ติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งพบว่า ยอดการใช้ได้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรค โควิด-19 โดยเดือนพฤษภาคมลดลงต่ำที่สุดที่ประมาณติดลบร้อยละ 10 เดือนเมษายนติดลบร้อยละ 9 ส่วนเดือนมิถุนายนเริ่มคลายล็อกดาวน์ยอดใช้ได้กลับมาเพิ่มขึ้น แต่ยังคงติดลบราวร้อยละ 8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปกติแล้วยอดการใช้ไฟฟ้าของประเทศ จะเทียบเท่า ยอดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น หากเศรษฐกิจของประเทศ มีอัตราติดลบร้อยละ 8.1 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ ดังนั้น ก็มีโอกาสที่ ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศปีนี้จะติดลบร้อยละ 8.1 เท่ากัน
“หากความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทย เท่ากับจีดีพีปีนี้ที่อาจติดลบร้อยละ 8.1 ดังนั้น ก็ประเมินว่า ไฟฟ้าสำรองของประเทศ คงจะเพิ่มจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 40 ซึ่งภาพรวมก็ต้องวางแผนว่าจะหยุดเดินโรงไฟฟ้าประเภทต้นทุนสูงในส่วนของ Merit order ซึ่งมีทั้งของ กฟผ.และเอกชน ส่วนโรงไฟฟ้าที่ต้องเดินก่อนก็ต้องเป็นไปตามสัญญา must take , must run”นายพัฒนา กล่าว
นายพัฒนา กล่าวว่า จากความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ก็ทำให้กระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน เพราะจะเกี่ยวข้องกับนโยบายการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) แบบราคาตลาดจร(สปอต) ซึ่งในส่วนของ กฟผ.ก็ได้ขออนุมัตินำเข้าเพิ่มเติม ในขณะที่ บมจ. ปตท.ขอนำเข้าปีนี้ 11 ลำ และยังมี 3 เอกชน เตรียมพร้อมนำเข้า เพราะเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าแผน หากนำเข้าแอลเอ็นจีราคาสปอต เข้ามามาก ก็จะส่งผลกระทบต่อก๊าซสัญญาตลาดรวม (POOL GAS ) หากเหลือใช้ก็จะเกิดปัญหาต่อ สัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย TAKE OR PAY เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า แม้ว่าการนำเข้าราคาสปอต จะเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าในปีนี้เพราะต้นทุนแอลเอ็นจีราคาตลาดจรต่ำก็ตาม ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน กำลังพิจารณาภาพรวมอย่างรอบคอบ ดังนั้น ในปีนี้ กฟผ.จะได้นำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มเติมจากที่นำเข้ามาแล้ว 2 ลำหรือไม่นั้น ก็คงจะต้อง ดูผลกระทบจากโควิด-19 เป็นสำคัญ
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาทางการเมือง ซึ่ง กลุ่ม 4 ยอดกุมาร โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงพลังงาน เป็นหนึ่งใน 4 ที่ ลาออกจากพลังประชารัฐ นั้น บริษัทฯไม่มีความกังวลว่าจะทำให้นโยบายส่งเสริมการนำเข้าแอลเอ็นจีสะดุด เนื่องจากเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลตั้งแต่ต้น มีกฎระเบียบต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งการชะลอนำเข้า LNG นั้น อาจรอความชัดเจนเรื่องการตั้งหน่วยงานเข้ามาดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ(TSO) ของ ปตท.
ทั้งนี้ BGRIM ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วในปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้ผลิตและจำหน่ายแอลเอ็นจีระดับโลกกว่า 20 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ และมองว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ หากนำเข้า LNG ราคาถูกก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง และจะสามารถช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ . – สำนักข่าวไทย