กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – กยท.เตือนเกษตรกรหมั่นดูแลสวนยางในช่วงฤดูฝน หวั่นโรคใบร่วงชนิดใหม่อาจกลับมาระบาดหนัก เพราะอากาศที่มีความชื้นสูง ย้ำควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นและไม่ควรกรีดหน้ายางหักโหม โดยเฉพาะในสวนยางที่สภาพต้นไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการเข้าทำลายของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในปีที่ผ่านมา
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ของประเทศซึ่งลักษณะดังกล่าวเอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราพบครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2562 ดังนั้น ชาวสวนยางจึงต้องหมั่นดูแลด้วยการใส่ปุ๋ยบำรุงทั้งในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน เพื่อสร้างความสมบูรณ์ของต้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำยางพาราของต้นยาง หลังการกรีดยางเกษตรกรควรใช้ยาทารักษาหน้ายางเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคจากเชื้อรา ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมขังควรจัดการระบายน้ำออกจากสวนยางให้เร็วที่สุด โดยการขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถวต้นยาง เพื่อให้น้ำระบายไปอยู่ในร่องน้ำที่ขุดไว้ แต่ไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการขุดร่องน้ำ เพราะอาจกระทบกระเทือนต่อระบบรากของต้นยางได้ นอกจากนี้ไม่ควรเข้าไปกรีดยางในขณะที่มีน้ำท่วมขังจนกว่าสภาพดินจะแห้งเป็นปกติ เพราะรากของต้นยางบางส่วนจะได้รับการกระทบกระเทือน ไม่สามารถดูดธาตุอาหารไปเลี้ยงต้นยางได้
นายกฤษดา กล่าวย้ำว่า สภาพภูมิอากาศที่ร้อนสลับชื้นในช่วงนี้จะช่วยทำให้เชื้อราที่สะสมอยู่ในพื้นดินแปลงสวนยางพาราแพร่กระจายและทำให้โรคใบร่วงแพร่ระบาดได้ นอกจากนี้ ในแปลงที่เคยเกิดโรคใบร่วงต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยกำจัดวัชพืชรวมถึงเศษซากใบต่าง ๆ ในแปลงที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราสะสม หากพบความผิดปกติในสวนยางพาราให้เกษตรกรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ กยท.ในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบสวนยางพาราและหาแนวทางป้องกันกำจัดได้ทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย