กรุงเทพฯ 7 ก.ค.-ธนาคารกรุงเทพ ขานรับนโยบาย ธปท.
ทั้งปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ขยายเพิ่มวงเงิน และมาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติม
รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
(มหาชน) เปิดเผยว่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 2
เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
(COVID-19) นั้น ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าดังกล่าว
ประกอบด้วยรายละเอียด คือ
1.)
สินเชื่อบัตรเครดิต
มาตรการทั่วไป
– ปรับลดเพดานดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 16% ต่อปี (จากเดิม 18% ต่อปี) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563
– ขยายวงเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความจำเป็นและมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับลูกค้าที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จาก
1.5 เท่า เป็น 2 เท่า เป็นการชั่วคราว
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564
มาตรการขั้นต่ำ ลูกค้าสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2563
– คงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ในปี 2563-2564 เป็น 8% ในปี 2565 และ 10% ในปี 2566
– เปลี่ยนประเภทเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (term loan) 48 งวด หรือขยายระยะเวลาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี
ทั้งนี้การพิจารณาให้ใช้วงเงินที่เหลืออยู่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร
โดยเมื่อรวมกับยอดคงเหลือของสินเชื่อเดิมต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ
– มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้
โดยพิจารณาเป็นรายกรณี
2.)
สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
มาตรการทั่วไป
– ปรับลดเพดานดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 25% ต่อปี
มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563
– ขยายวงเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความจำเป็นและมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับลูกค้าที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนหรือกระแสเงินสดหมุนเวียนเข้าในบัญชีเงินฝากเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า
30,000 บาท จาก 1.5 เท่า เป็น 2 เท่า เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564
มาตรการขั้นต่ำ ลูกค้าสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ประเภทสินเชื่อที่มีลักษณะหมุนเวียน (Revolving Loan)
– ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำ ตามความสามารถในการชำระหนี้
– เปลี่ยนเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (term loan) 48
งวด หรือขยายระยะเวลาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี
ทั้งนี้จะพิจารณาให้ใช้วงเงินที่เหลือตามความสามารถในการชำระหนี้ตามเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร
ประเภทสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment Loan)
– ลดค่างวดอย่างน้อย 30% โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี
3.)
สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน
ลูกค้าสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
– เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ
– เลื่อนชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) เป็นระยะเวลา 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าแต่ละรายตามความเหมาะสม หรือ
– ลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้
– ช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน โดยพิจารณาเป็นรายกรณีตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร
4.)
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้
– กรณีที่ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา หรือมาตรการขั้นต่ำ
หรือมาตรการอื่น ธนาคารจะเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้า
โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วนต่อไป
“มาตรการเหล่านี้ธนาคารกรุงเทพได้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าและบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน
โดยเน้นให้ความช่วยเหลือทั้งในวงกว้างแก่ลูกค้าเป็นการทั่วไป
และความช่วยเหลือแบบเจาะจงสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด
19 ซึ่งเน้นให้ความช่วยเหลือก่อนที่ลูกค้าจะกลายเป็นหนี้เสีย
มิฉะนั้นจะกระทบต่อประวัติเครดิตของลูกค้า
อันจะเป็นผลเสียต่อการขอใช้บริการสินเชื่ออื่นๆ ในอนาคต” นายสุวรรณ
กล่าว.-สำนักข่าวไทย