หอศิลป์ฯ 1 ก.ค.-กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” นำภาพทรงคุณค่า บอกเล่าเรื่องราวประเทศไทยในอดีต ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7ผ่านภาพถ่ายชุด หอพระสมุดวชิรญาณ ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจําแห่งโลก มาจัดแสดงให้คนไทยได้ชื่นชมตั้งแต่ 10 ก.ค.นี้
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัด นิทรรศการ “ฟิล์มกระจก:เรื่องราวเหนือกาลเวลา” โดยมีท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดี กรมศิลปากร และผู้เกี่ยวข้องร่วมแถลง วันนี้ (1ก.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ฟิล์มกระจกเป็นเอกสารจดหมายเหตุประเภทโสต ทัศนวัสดุ เป็นฟิล์มชนิดหนึ่งที่มีภาพในลักษณะเนกาทีฟและโพสซิทีฟ ปรากฎบนแผ่นกระจก เป็นหนึ่งในวิทยาการด้านการถ่ายภาพที่นิยมในช่วง พ.ศ.2395-2472ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก เป็นหนึ่งในเอกสารที่ผ่านการประเมินว่ามีคุณค่า มีความสำคัญในฐานะที่เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สะท้อนบริบททางสังคมของประเทศ แสดงให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ผ่านมุมมองของผู้ที่บันทึกภาพ เป็นประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกด้วยภาพถ่าย สื่อความหมายแทนการบันทึกในเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรถือเป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตมาสู่สังคมปัจจุบัน
ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภาพถ่ายฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณที่องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจําแห่งโลก (Memory of the World) เมื่อปี พ.ศ.2560 ประกอบไปด้วยภาพบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ผ่านมุมมองของผู้ถ่ายภาพ ซึ่งมีทั้งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศ์ ขุนนาง และช่างภาพ ซึ่งแต่ละท่านมีมุมมองในการถ่ายภาพ การจัดวางองค์ประกอบ และการสื่อความหมายที่แตกต่างกันออกไป สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต
ส่วนแนวคิด รูปแบบของนิทรรศการ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้ เป็นการนำเอาภาพถ่ายที่ทรงคุณค่าในอดีตมาเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในอดีต โดยคัดเลือกภาพถ่ายจากหนังสือ “ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์”เล่ม 2 ร่วมกับภาพถ่ายชุดอื่น ไปออกแบบเนื้อหาและนําเสนอในรูปแบบนิทรรศการ รวมทั้งสิ้น 102 ภาพ แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพการเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์และการเสด็จประพาสต้น คือการเสด็จพระราชดําเนินส่วนพระองค์ เพื่อได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขของประชาชน ทําให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์อย่างใกล้ชิด
ส่วนที่ 2 ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา เป็นภาพวิถีชีวิตที่ธรรมดาเป็นกิจวัตรของผู้คนในกรุงเทพฯ ให้บรรยากาศของความสุขสงบ เรียบง่ายของผู้คนและบ้านเมือง
ส่วนที่ 3 ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของชาว ตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7
ส่วนที่ 4 จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของชาติ ตะวันตกที่ทําให้สยามประเทศขณะนั้นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างและเชื่อมโยงระบบเส้นทาง รถไฟ ซึ่งนําไปสู่การเติบโตทางการปกครอง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
นิทรรศการ “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” กําหนดจัดพิธีเปิดนิทรรศการในวันพฤหัสบดี ที่ 9 กรกฎาคม 2563 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม– 20กันยายน 2563 ระหว่าง เวลา 10.00-18.30 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศ ได้มีโอกาสชมนิทรรศการที่น่าสนใจในครั้งนี้อย่างทั่วถึง จึงได้จัดทำเป็น นิทรรศการออนไลน์แบบเสมือนจริงให้ชมผ่านเว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ด้วย.-สำนักข่าวไทย