กรมชลประทาน 24 มิ.ย.-กรมชลประทานประสานกฟผ.
ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนภูมิพลเนื่องจากมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อย ยืนยันไม่กระทบการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคลุ่มเจ้าพระยาเพราะเพิ่มน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์และแควน้อยฯ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า
ได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล
จังหวัดตากจากแผนที่กำหนดไว้เนื่องจากฝนที่ตกเหนือเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนระบายวันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) แต่วันนี้ (24 มิ.ย.)
ระบาย 5 ล้านลบ.ม.
แล้วเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ส่วนอีก 2 เขื่อนหลักคือ
เขื่อนสิริกิติ์และป่าสักชลสิทธิ์ยังคงปริมาตรการระบายไว้
ทำให้น้ำที่ไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยายังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยระบายรวมวันละ 17 ล้านลบ.ม.
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนดังกล่าว
มีน้ำรวมกันประมาณ 7,682 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 986 ล้าน
ลบ.ม. ซึ่งปริมาตรน้ำรวมในปีนี้น้อยกว่าปี 2562 ถึง 1,725 ล้านลบ.ม. จึงสามารถสนับสนุนได้เฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ
ส่วนภาคการเกษตรนั้น ขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม
จึงขอให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปี เริ่มเพาะปลูกกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุกและมีน้ำในพื้นที่เพียงพอ สำหรับเกษตรกรที่ได้เพาะปลูกนาปีไปแล้ว
กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยจะนำน้ำท่าจากแม่น้ำและลำคลองธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
ด้วยการทดน้ำ อัดน้ำ หรือสูบน้ำเข้าแปลงเพื่อช่วยเหลือ
“ขอย้ำว่า กรมชลประทานเน้นเก็บกักน้ำในเขื่อนต่างๆ
ให้ได้มากที่สุดและขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดตามแผนที่กำหนดไว้เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้เพียงพอใช้ถึงฤดูแล้งหน้า”
นายทองเปลวกล่าว – สำนักข่าวไทย