กรุงเทพฯ 16 มิ.ย. – “ธนกร” แจงเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจเป้าหมายชัด เน้นสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน สร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า รัฐบาลใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาทสะเปะสะปะ ถลุงแจกหน่วยงาน แบ่งเค้กกินกันเองว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง การพิจารณากลั่นกรองโครงการแผนงานที่ 3 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ตามพระราชกำหนดฯ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ที่ประกอบด้วยหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบายของประเทศ ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไม่เกิน 5 คน เพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิด้าน เศรษฐศาสตร์ สาธารณะ และการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผล เพื่อให้การพิจารณาแผนงานหรือโครงการเป็นไปอย่างรอบคอบ
นายธนกร กล่าวอีกว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ได้จัดทำกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จแต่ละด้าน เพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยงถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ รวมทั้งรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และสามารถตอบสนองความปกติใหม่ (New Normal) คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลจะมุ่งเน้นแผนงานหรือโครงการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับการค้า การผลิต และการบริการ ให้ครอบคลุมทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ เช่น การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรมอาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Responsible Tourism) อุตสาหกรรมการให้บริการ (Hospitality Industry) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจฐานรากด้วยการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชน ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าทุกอย่างโปร่งใส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะไม่ยอมให้มีการทุจริตอย่างเด็ดขาด.-สำนักข่าวไทย