กรุงเทพฯ 16 มิ.ย. – กรมประมงเตรียมใช้แนวทางบริหารทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมคลายข้อพิพาทแย่งชิงหอยแครงระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเลี้ยงหอยอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เผยพบ “ลูกหอยแครง” เกิดมากที่สุดในรอบ 3 ปี จากการวางมาตรการรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างเข้มงวด
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า วางแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรหอยแครงอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนำมติของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาพิจารณา โดยคณะกรรมการประมงจังหวัดเห็นควรให้พื้นที่จับสัตว์น้ำในเขตอำเภอเมืองและอำเภอพุนพิน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นแหล่งเกิดพันธุ์ลูกหอยแครงตามธรรมชาติ จึงเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยปี 2563 ทรัพยากรลูกหอยแครงเกิดขึ้นมากส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเลี้ยงหอย
ดังนั้น กรมประมงจึงกำหนดแนวทางที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ได้แก่ บูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายในการจัดการแปลงหอยที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ทำการประมงของชาวประมง ใช้กลไกของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงหอยทะเล พร้อมประกาศให้เป็นเขตพื้นที่อนุญาตเลี้ยงหอยตามขั้นตอนต่อไป โดยให้สิทธิ์ชาวประมงพื้นบ้านในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการเพาะเลี้ยง เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน กำหนดพื้นที่บางส่วนเป็นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำห้ามทำการประมงอย่างถาวร โดยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์หอยแครง
ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะของอ่าวบ้านดอนได้อย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด เพื่อร่วมกันสร้างผลผลิตให้ทรัพยากรหอยแครงคงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน
จากการสำรวจและเก็บข้อมูลของกรมประมงพบว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลของอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเขตอำเภอเมืองและพุนพินเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกิดและแพร่ขยายพันธุ์ของหอยแครง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำ ลำคลองหลายสายไหลมาบรรจบกัน นำพาธาตุอาหารไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน ลูกหอยแครง จึงเกิดขึ้นในบริเวณนี้เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งในช่วงหน้าแล้ง หากมีฝนตกหลายวันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเล ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้หอยแครงมีการวางไข่และผสมพันธุ์ และหากปีใดน้ำทะเลมีความเค็มสูงลูกหอยจะเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาน้ำทะเลมีค่าความเค็มต่ำ แต่ปีนี้น้ำทะเลอ่าวบ้านดอนกลับมีความเค็มสูงกว่าทุกปี ประกอบกับก่อนช่วงที่ลูกหอยจะเกิดยังมีฝนตกลงมา 3-4 ช่วง ๆ ละ 3-4 วัน ทำให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสลับกับน้ำเค็มจัด จึงกระตุ้นให้หอยแครงผสมพันธุ์และวางไข่ในธรรมชาติจำนวนมาก
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรอดของลูกหอยในพื้นที่ดังกล่าว คือ การใช้พระราชกำหนดการประมงเพื่อวางมาตรการสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเข้มงวด ทำให้ลูกหอยวัยอ่อนไม่ถูกรบกวนจากเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง โดยได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ระยะ 3 ไมล์ทะเลและการออกประกาศกำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามทำประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 โดยห้ามทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และให้สามารถทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งได้
“เมื่อใช้กลไกคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการกำหนดแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม หวังว่าจะลดความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากรชายฝั่งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเลี้ยงหอยได้ โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้ประโยชน์ร่วมกันและปฏิบัติตามกฎหมายประมงอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีหอยแครงซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติได้จับขายอย่างยั่งยืน” นายมีศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย