“พล.อ.ประวิตร” สั่งเข้ม 8 มาตรการรับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง

สำนักข่าวไทย 11 มิ.ย.- “พล.อ.ประวิตร” สั่งเข้มทุกหน่วยภายใต้ กอนช. เร่ง 8 มาตรการป้องกันน้ำท่วมปี 63 พร้อมเก็บกักน้ำถึงแล้งปีหน้า





เมื่อเวลา 10.00 น. ​วันนี้ (11 มิ.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน กอนช. อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงบประมาณ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกในทุกภูมิภาค และจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะบริเวณภาคภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกันเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรัดกุมและรอบด้าน รวมทั้งเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนควบคู่กัน


พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานตาม 8 มาตรการ รองรับสถานการณ์ฤดูฝนปี 2563 โดยขณะนี้หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ดำเนินงานรุดหน้าไปแล้วในหลายส่วน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปีนี้ว่าหลายพื้นอาจมีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ ดังนี้ 

1) ให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำและพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพื่อรองรับน้ำหลาก ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2563 สำหรับทุ่งรับน้ำใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ ลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ให้จัดเตรียมพื้นที่ให้แล้วเสร็จในปีต่อไป 

2) ให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เร่งจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและเกณฑ์ระบายน้ำในส่วนที่เหลือ ให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563

3) ให้กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตปริมณฑล จัดทำเกณฑ์การระบายน้ำ การควบคุมระดับน้ำ การสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 13 แห่ง ให้ชัดเจน และกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังและแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร 

4) ให้กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปรับแผนงานปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปี 2563 ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก พร้อมจัดทำแผนงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ ในปี 2565 

5) ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งรัดการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ได้ทันเวลาและลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อทรัพย์สิน ชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ได้มากที่สุด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้มีความห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักประสบปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้ กอนช. ด้านบูรณาการและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลขึ้น จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาได้ดำเนินการขุดลอกคู คลอง สองฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต และคลองเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตลงคลองเปรมประชากรตั้งแต่เขตดอนเมืองถึงเขตดินแดง แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันการดำเนินงานจะเน้นย้ำในส่วนของด้านรองรับสถานการณ์น้ำหลากเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน แต่ กอนช. ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว 1,408 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.59 ของจำนวนพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว สามารถเพิ่มปริมาณน้ำบาดาล 47.71 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชนได้รับประโยชน์จากน้ำบาดาล 203,891 ครัวเรือน สามารถเพิ่มปริมาณน้ำดิบผลิตประปา 61.54 ล้าน ลบ.ม./ปี ผู้ใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้น 183,192 ราย มีน้ำประปาสำรอง 0.70 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าของโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 โดยขณะนี้ดำเนินการแล้ว จำนวน 286 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.57 ของจำนวนพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว โดยสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 61.10 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 255,938 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 81,391 ครัวเรือน จ้างแรงงาน 6,159 คน ซึ่งทุกหน่วยงานจะเร่งดำเนินการให้ครบทุกพื้นที่เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วต่อไป.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ใบประกอบวิชาชีพครู

เตือนคุณครูเปิดเทอมนี้ ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”

เตือนคุณครูเปิดเทอมนี้ ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” แนะรีบต่ออายุใบอนุญาต หลังคุรุสภาออกมาตรการ 5 ต. คุมเข้มทุกโรงเรียนทั่วไทย

เริ่ม 1 พ.ค.นี้ นักท่องเที่ยวเข้าไทย ต้องลงทะเบียนบัตร ตม.6 แบบดิจิทัล

เริ่ม 1 พ.ค.นี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ต้องลงทะเบียนบัตร ตม.6 แบบดิจิทัล หรือ TDAC ล่วงหน้า อย่างน้อย 3 วันก่อนเดินทาง ตามกฎใหม่ ตม.

พีชเรียกอาต่าย

ผบ.ตร.ไม่ปลื้ม “พีช” โอ้อวดเรียก “อาต่าย” ลั่นไม่ใช่ญาติ

ผบ.ตร.ไม่ปลื้ม “พีช” คู่กรณีรถกระบะ โอ้อวดเรียก “อาต่าย” รู้จักคนในรัฐบาล หวังผลคดี ลั่นไม่ใช่ญาติ สอนลูกเสมออย่าทำตัวเป็นขยะสังคม บอกประชาชนใช้วิจารณญาณเลือกตั้ง

“นายกเบี้ยว” ยอมรับลูกขับรถหวาดเสียว พร้อมชดใช้-ดูแลลุงคู่กรณี

“นายกเบี้ยว” รับจบแทนลูก ยอมรับลูกขับรถหวาดเสียว พร้อมชดใช้ ดูแลลุงคู่กรณี ระบุสอนลูกไม่ดี ไม่มีเวลาให้ลูก ปฏิเสธไม่สนิทกับ ผบ.ตร. อย่าเอาท่านมาแปดเปื้อน ส่วนที่ลูกชายยังไม่ไปเยี่ยมลุงคู่กรณี เนื่องจากกลัวโดนถูกโวยวาย

ข่าวแนะนำ

ลุยรื้อถอนต่อเนื่องเข้าวันที่ 24 จนท.ทำงานหนักตลอด 24 ชม.

เดินหน้ารื้อถอนอาคาร สตง. เข้าสู่วันที่ 24 แล้ว เจ้าหน้าที่ทำงานตลอด 24 ชม. เพื่อให้เสร็จตามแผน ขณะที่ภารกิจค้นหาผู้ติดค้างยังคงดำเนินต่อเนื่อง

ปล่องลิฟต์ตึกถล่ม

กทม.เดินหน้าเจาะปล่องลิฟต์ ค้นหาผู้สูญหายตึก สตง.

ผู้ว่าฯ กทม. เผยปฏิการค้นหาร่างผู้สูญหายจากเหตุตึก สตง.ถล่ม วันนี้เน้นเจาะปล่องลิฟต์-บันไดหนีไฟ หลังวานนี้ (18 เม.ย.) พบผู้เสียชีวิตในจุดดังกล่าวเพิ่มอีก 6 ราย ยืนยัน กทม. ให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการเข้า เก็บพยานหลักฐาน เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าว