รัฐสภา 10 มิ.ย.- สภาฯเตรียมตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบเข้าร่วม CPTPP เสนอรับฟังความเห็น-ผลการศึกษา รอบด้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงบ่ายวันนี้ (10มิ.ย.) พิจารณาญัตติด่วน พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ย้ำความจำเป็นของการเสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากกระทบหลายกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทย
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐบาลเตรียมเข้าร่วม CPTPP จนเกิดกระแสคัดค้าน เพราะเกรงว่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าความเสียหาย และผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่นกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตร ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ต่างชาตินำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่และจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง เปิดทางให้กิจการต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการในท้องถิ่นได้ จึงเสนอญัตติด่วนเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของแผ่นดิน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อที่ 49 และ 50
นายศุภชัย กล่าวว่า มีรายงานวิจัยบอกว่า การเข้าร่วม CPTPP จะได้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท แต่หากจะไม่เข้าร่วม GDP จะลดลงร้อยละ 0.25 รวมทั้งเสียโอกาสการขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่กระบวนการผลิตในภูมิภาค แต่หากเข้าร่วมก็จะเพิ่มตลาดการส่งออกในบรรดาหมู่สมาชิกด้วยกัน ดึงดูดให้ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับกลุ่มประเทศ CPTPP หากไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาสให้กับประเทศมาเลเซียและเวียดนาม แต่หากเข้าร่วม จะต้องปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐาน CPTPP และผูกพันกับสัญญา 2 ฉบับคืออนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV1991 มีผลทำให้ผูกขาดพันธุ์พืช และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลชีพ รวมถึงมีผลกระทบเชิงลบอีกมากมาย ทั้งสิทธิบัตรยา เครื่องมือแพทย์ จึงควรมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับ
นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า ที่รัฐบาลต้องเร่งมีข้อสรุป เนื่องจาก CPTPP จะมีการประชุมครั้งต่อไปช่วงเดือนสิงหาคมนี้ แม้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่าจะทำให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท แต่ถูกต่อต้าน เนื่องจากมีผลกระทบอาทิ ได้แก่ สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องโดยประเทศสมาชิกหรือนักลงทุนต่างชาติ หากรัฐบาลใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยาหรือ CL เกิดการกีดกันและชะลอการแข่งขันของยาชื่อสามัญ ทำให้ยาสามัญแพงขึ้น เกิดการขยายการผูกขาดไปถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ด้วย การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ GMOs ต้องถือตามกฎหมายของประเทศที่ส่งออกสินค้า การคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP มีการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ก่อนประกอบกิจการหรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนที่ไม่ได้รับการอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐได้ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณีการควบคุมการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอาง องค์การอาหารและยาจะไม่มีอำนาจไปบังคับได้ อาจจะเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค
นายแพทย์ระวี กล่าวว่า หากสภาฯ ไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจะเกิดผลเสีย เพราะประชาชนและส.ส.จะไม่มีส่วนร่วม เมื่อศึกษาเรื่องนี้จะเสนอความเห็นให้กับรัฐบาลดำเนินการต่อไป ที่สำคัญจะสามารถร่วมกันหาทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการเข้าร่วม CPTPP
นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติ ระบุว่า การเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ไม่ได้ มาตัดสินว่าควรเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม CPTPP แต่ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเมื่อวานนี้สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย แถลงร่วมกันว่าอยากจะเห็นประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP เพื่อขยายตลาดทางการค้าและเป็นฐานการผลิตใหม่ ส่วนเกษตรกรที่ได้รับข้อมูลในแง่ลบจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ทำให้ใช้พันธุ์พืชในราคาที่แพงขึ้น เนื่องจากเปิดโอกาสให้ต่างประเทศนำพันธุ์พืชไปจดสิทธิบัตรใหม่แล้วนำกลับมาขายในประเทศไทย รวมถึงเงื่อนไขที่ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิบัตรยาได้ แต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ยืนยันว่าสามารถเจรจาผ่อนได้
นายวีระกร กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความคิดเห็นต่าง จึงควรให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษารายละเอียดให้มาก ฟังภาคประชาสังคมให้มาก และควรให้ส่วนราชการโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มาชี้แจงให้ฟัง เพื่อเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย ซึ่งอยู่ที่คณะกรรมาธิการฯ ที่จะตั้งขึ้นเพื่อศึกษาโดยเร็วอย่างกว้างขวางลึกซึ้งอย่างไรก็ตามเมื่อการประชุมถึงเวลา 17.30 น. ยังมีสมาชิกอภิปรายต่อเนื่อง โดยหลังจากการอภิปรายเสร็จสิ้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP.-สำนักข่าวไทย