กรุงเทพฯ 8 มิ.ย. – ไทยพาณิชย์ เตรียมเปิดตัว แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย “Robinhood” ไม่มีค่าฟี ไม่ชาร์ทเพิ่ม หวังลดภาระลูกค้า พร้อมประกาศแผน SCB New Normal สร้างวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ให้เป็นองค์กรตัวเบา ต่อยอด Digital Transformation
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)เปิดเผยว่า ธนาคารพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาในเวลาเพียง 3 เดือน ภายใต้ชื่อ “Robinhood” (โรบินฮู้ด) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย โดยไม่เก็บค่าจีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่าจีพีนับเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีร้านอาหารร่วมในแพลตฟอร์มประมาณ 40,000-50,000 รายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ จุดเด่นของ”Robinhood”คือ ไม่มีค่าพีจี ไม่ค่าธรรมเนียมในเข้าแพลตฟอร์ม และได้รับเงินโอนรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากผู้รับจ่ายเงินทั้งในส่วนของร้านค้า และผู้ส่งของ
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood”จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จากัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนต่อปีประมาณ 100 ล้านบาท จากความต้องการช่วยเหลือคนไทยให้สามารถทาธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน Robinhood จึงไม่ใช่เพียงแค่แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างคนกับร้านค้า แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมเศรษฐกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อถึงการช่วยเหลือกัน การแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก คือ จุดแข็งที่ทำให้คนไทย สังคมไทย และประเทศไทยสามารถรอดพ้นทุกวิกฤตที่เผชิญได้ ซึ่งการเปิดแพลตฟอร์มดังกล่าวธนาคารได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แล้ว
สำหรับการแข่งขันตรงนี้สูงมาก แต่ก็ไม่ได้ออกมาเพื่อจะแข่ง และเราก็ได้คุยกับพันธมิตรอย่าง GET ที่เคยเซ็นสัญญาไปก็เป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้พนักงานเท่านั้น แต่เป็นการนำเสนอในอีกทางเลือกที่จะได้รับประโยชน์ทั้งร้านค้า ผู้ขนส่ง และผู้สั่ง โดยใช้เงินลงทุนไปกว่า100 ล้านบาท และร่วมมือกับบริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด(skootar)ที่ให้บริการแมสเซ็นเจอร์ออนไลน์ ในด้านผู้ส่งสินค้า ซึ่งหากเราสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า มีแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะขยายวงออกไปสู่อย่างอื่นนอกจากกลุ่มอาหาร รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ได้ อย่างผู้ประกอบการร้านค้าก็จะเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจากให้ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย น่าจะทำให้เรามีที่ยืนในธุรกิจนี้ได้บ้าง
ส่วนแผนงานเพื่อรองรับ New Normal นั้น ณ ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบ และมีผลกระทบวงกว้าง คาดว่ากว่าจะที่ให้เศรษฐกิจกลับมาแข็งแรงเท่าเดิมต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งธนาคารเองก็มีแนวทางในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าทั้งด้านการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย และการให้เงินกู้ซอฟต์โลนเสริมสภาพคล่องตามโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และธนาคารออมสินโดยมียอดปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันธนาคารเองก็ต้องมีการปรับองค์กรให้เบา เพื่อลดต้นทุนเช่นกัน ซึ่งในช่วง 4-5 ปีจากที่ธนาคารได้ทำโครงการ Digital Transformation ที่ทำให้มีการปรับตัวมาแล้วระดับหนึ่ง และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้าได้เช่นกัน
ด้านการดูแลลดต้นทุน ไม่ใช่การให้พนักงานออก ซึ่งธนาคารไม่ได้ทำและไม่มีแผนจะทำ แต่ต้นทุนของธนาคารลดลงทุกเดือน โดยที่ไม่ต้องเอาพนักงานออก ทุกองค์กรมีไขมัน ถ้าใช้เวลาดูแลอย่างเต็มที่ในการรีดไขมันให้ออกไป ก็จะทำให้ตัวเบาลงได้ และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้ลูกค้ามีต้นทุนที่เบาลง ขณะที่จำนวนสาขานั้น คงจะไม่เห็นจำนวนสาขาที่ลดลงมากๆแล้ว แต่จะเปลี่ยนเป็นสาขาย่อยและใช้แมชชีนเป็นหลัก พนักงานสาขาก็จะได้รับการอบรมให้สามารถทำงานได้ในส่วนอื่นๆได้ รวมถึงการขยายจาก work from home เป็น work from anywhere ด้วย ซึ่งจากที่มาก็ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะจริงๆแล้วโลกก็มาในทิศนี้อยู่แล้ว แต่มีโควิดฯมาเป็นตัวเร่งให้เร็วขึ้นอีก
ส่วนปัญหาด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)นั้น ขณะนี้กลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาก็ยังอยู่ในโครงการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถประเมินการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลได้ชัดเจน ขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่อาจจะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มหลังจากการระดมทุนผ่านหุ้นกู้อาจจะไม่สะดวกเหมือนในช่วงที่ผ่านมา . – สำนักข่าวไทย