กทม. 29 พ.ค. – วันนี้ ปคม. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงปิดคดีอุ้มบุญข้ามชาติ ดำเนินคดีกับนายทุนใหญ่ชาวจีน นายหน้า และแพทย์ที่ร่วมขบวนการ รวม 23 คน
ย้อนไปจุดเริ่มคดีนี้ ปคม.ได้รับแจ้งเบาะแสขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อกว่า 1 ปีก่อน จากนั้นเริ่มสืบสวนแกะรอย กระทั่งพบเบาะแสสำคัญจากข้อมูลย้อนหลังที่มีการจับกุมผู้ลักลอบขนน้ำเชื้ออสุจิข้ามไปฝั่งลาวเมื่อปี 2560 หลังกฎหมายอุ้มบุญของไทยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558
เมื่อข้อมูลมากพอ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปฏิบัติการทลายเครือข่าย “อุ้มบุญ” จึงเริ่มขึ้น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนำชุดปฏิบัติการพิเศษบุกช่วยเด็กทารกจากขบวนการอุ้มบุญ ที่บ้านพัก 2 หลังย่านลาดพร้าว จับกุมนายจ้าวเหริน นายทุนชาวจีน ผู้ดูแลและนายหน้าชาวไทย พร้อมแม่อุ้มบุญที่ได้รับการปลูกถ่ายตัวอ่อนแล้ว 15 คน ขณะเดียวกันยังบุกคนเป้าหมายทั่วประเทศอีก 10 จุด เพื่อหาหลักฐาน พบผู้เกี่ยวข้องประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้ 300 คน เป็นแม่อุ้มบุญและรับจ้างขายไข่
ผ่านไป 3 เดือน ตำรวจออกหมายเรียกสูตินรีแพทย์ รวม 5 คน และนักวิทยาศาสตร์อีก 1 คน มารับทราบข้อกล่าวหา สมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อกระทำผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์เพื่อประโยชน์แห่งการค้า ทั้งหมดยังให้การปฏิเสธ
ผู้บังคับการ ปคม. วันนี้นำทีมผู้เกี่ยวข้องแถลงสรุปคดี ระบุมีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี 23 คน จับกุมแล้ว 22 คน โดยมีนายทุนใหญ่ชาวจีน 5 คน เป็นตัวการ รวมถึงสูตินรีแพทย์ 5 คน และนักวิทยาศาสตร์อีก 1 คน ร่วมทำผิด ยืนยันมั่นใจพยานหลักฐานเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้ แม้ผู้ต้องหาจะพยายามเลี่ยงกฎหมาย นำไข่และอสุจิไปปฏิสนธิและฉีดตัวอ่อนใส่แม่อุ้มบุญที่ประเทศเพื่อนบ้าน สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแล้วเมื่อ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมเตือนว่า กฎหมายอุ้มบุญของไทยครอบคลุมถึงผู้เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ หรือแม้กระทั่งการขายไข่ หรือน้ำเชื้ออสุจิ มีทั้งอันตรายและอัตราโทษสูง
สอดคล้องกับอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำว่าการรับจ้างอุ้มบุญ นอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังส่งผลอันตรายถึงตัวผู้รับจ้างเอง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสังคม หากเด็กถูกทอดทิ้ง จากผู้ว่าจ้าง เพราะเกิดมามีสภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากกรณี “น้องแกรมมี่” ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม จนถูกทอดทิ้งไว้กับแม่อุ้มบุญชาวไทย ขณะที่ฝาแฝดที่มีความสมบูรณ์ถูกนำกลับไปเลี้ยงที่ออสเตรเลีย
นับเป็นการปิดฉากคดีรับจ้างอุ้มบุญในไทยคดีแรก หลังกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มบุญ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งช่วยอุดช่องว่างไม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มาหาประโยชน์เหมือนในอดีต โดยมีแม่อุ้มบุญถึง 45 คน ถูกกันเป็นพยานซัดทอดผู้ว่าจ้าง เพื่อหวังถอนรากถอนโคนขบวนการรับจ้างอุ้มบุญไม่ให้เกิดขึ้นอีก. – สำนักข่าวไทย