รัฐสภา 28 พ.ค.-รมว.คลัง ชี้แจงเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือ SME เพิ่มเติม นอกจากออก พ.ร.ก. ต้องครอบคลุมผู้ประกอบการที่ไม่เคยกู้เงิน ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท. แจงมาตรการทางการเงินช่วยเหลือธุรกิจ SME
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับการกู้เงิน 3 ฉบับ ถึงกรณีการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ หารือผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการออกมา และหลายมาตรการได้นำเสนอออกมา แต่เมื่อสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน ก็ต้องมีมาตรการต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยกำลังจะออกมาตรการเพิ่มเติม นอกจากการออก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ เพื่อดูแล SME ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนธนาคารพาณิชย์ได้เต็มที่ รวมทั้ง SME ที่ยังไม่มีประสบการณ์การกู้เงินกับสถาบันการเงิน
ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงถึงมาตรการทางการเงินช่วยเหลือธุรกิจ SME เพิ่มเติม แบ่งเป็น 4 มิติ คือ 1.ต้องเยียวยาผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วและทั่วถึง 2.มาตรการจัดการที่ดำเนินการต้องไม่นำไปสู่ปัญหาของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งโชคดีที่ระบบสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง สามารถใช้เป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ได้ 3.จะต้องไม่สร้างภาระทางการคลังให้กับรัฐบาลและภาษีของประชาชนในอนาคตมากจนเกินควร และ 4.โลกเศรษฐกิจหลังสถานการณ์คลี่คลายจะเปลี่ยนไปมาก วิถีชีวิตประชาชนและวิธีการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป มาตรการทางการเงินจะต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวสู่ระบบเศรษฐกิจโลกใหม่หลังโควิด-19
นายวิรไท กล่าวถึงกรอบการดูแลช่วยเหลือ SME ว่า มีมาตรการทางการเงินอย่างน้อย 4 ด้าน คือ 1.ลดอัตราดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารกลางแรก ๆ ของโลก ที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อตอบสนองสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 0.5 และเสนอลดอัตราเงินนำส่งเพื่อไปชำระหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF Fee เหลือร้อยละ 0.23 เป็นระยะเวลาชั่วคราว 2 ปี ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดในรอบ 17 ปี และปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ โดยคิดเฉพาะงวดที่ผิดนัด ไม่ได้คิดจากเงินต้นที่เหลืออยู่
นายวิรไท กล่าวอีกว่า 2.เลื่อนและลดภาระการชำระหนี้ โดยเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ให้กับ SME ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาทเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อกับสถาบันการเงินก็สามารถเลื่อนการชำระหนี้เงินต้นได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน และประสานงานกับธนาคารให้ช่วยเหลือออกมาตรการเพิ่มเติมและเลื่อนกำหนดชำระหนี้ 3-6 เดือน สำหรับสินเชื่ออื่น ๆ เพื่อการทำธุรกิจ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ลิสซิ่ง ซึ่งมี SME ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วกว่า 1.1 ล้านราย วงเงินกว่า 2.1 ล้านล้านบาท ที่ได้ประโยชน์ 3.ให้สินเชื่อเพิ่มเติม ให้ผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องหรือเห็นความจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจลงทุนเพิ่มให้สอดคล้องกับหลักสุขอนามัย หรือให้สอดรับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเริ่มดำเนินการวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีลูกหนี้ได้รับสินเชื่อแล้ว 84,000 ราย ยอดเงินกว่า 148,000 ล้านบาท แต่ยังไม่น่าพอใจ เพราะยังมี SME จำนวนมากที่รอสินเชื่อโครงการพิเศษเหล่านี้อยู่ ซึ่งต้องเร่งให้สถาบันการเงินดำเนินการต่อไป
นายวิรไท กล่าวด้วยว่า 4.สนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก โดยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อเร่งให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็ว ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย ส่วนกรณีที่เป็นหนี้เสียแล้ว ก็ให้ปรับเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกัน เพื่อจะทำให้กฎเกณฑ์เรื่องการตั้งวงเงินสำรอง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ส่วนที่มีสมาชิกตั้งข้อสังเกตว่ามีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟโลน เฉพาะผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำ นายวิรไท ชี้แจงว่า ตรวจสอบสถานข้อมูลแล้ว พบว่าร้อยละ 70 เป็นลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงความเสี่ยงสูง พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนทั่วไป ทั้งเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต การขยายเวลาชำระหนี้โดยไม่เสียเครดิตบูโร.-สำนักข่าวไทย