กรุงเทพฯ 30 พ.ย.-รมว.ยธ. ยอมรับการให้ชุมชนมีส่วนร่วมบำบัดผู้ติดยาเสพติดในไทยยังทำยาก ต้องเร่งสร้างทำความเข้าใจ ส่วนกรณีการทำกัญชาให้ถูกกฎหมาย ต้องศึกษาให้รอบคอบ
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) ร่วมงานเปิดตัว “คู่มือสำหรับผู้สอนเรื่องการให้บริการชุมชนสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยมีนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พร้อมด้วยผู้แทนจากUNODC สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เข้าร่วม
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนคู่มือที่ UNODC มีการวางแผนรูปแบบมาเป็นอย่างดีโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะรูปแบบการรักษาทั่วโลก มักให้ความสำคัญกับการรักษา ที่ให้ถือว่าผู้ติดยาเสพติดไม่ใช่คนร้าย แต่ให้ถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องการบำบัดรักษาด้วยการสาธารณสุขที่สำคัญต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้ติดยาเสพติด และติดยา ในชุมชนเพื่อให้เกิดการรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการติดตามผลและการคืนผู้ป่วยสู่สังคม ตลอดจนสนับสนุนครอบครัวและชุมชนของผู้ป่วยให้เข้มแข็งในเกิดผลในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และตรงนโยบายกระทรวง
สำหรับปัญหาสำคัญเวลานี้ที่สามารถนำคู่มือเรื่องนี้มาใช้ คือ 1.นโยบายแห่งรัฐ เราจะสามารถมีกฎหมายในการดูคุ้มครองคนกลุ่มนี้ และในชุมชนไม่ให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมาได้หรือไม่ ซึ่งการแก้กฎหมายในเรื่องนี้อาจนำมาสู่ความสับสนในสังคมได้ 2.เรื่องการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพราะการแก้เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ตำรวจ หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยา เสพติด(ป.ป.ส.)อย่างเดียว ต้องมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสังคมร่วม และ 3.หน่วยงานด้านศาลที่จะทำหน้าที่ตัดสินให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการรักษา ถ้าทั้ง 3 หน่วยงานสามารถทำงานร่วมกันได้จะนำพาไปสู่การเริ่มต้นที่ดี แต่การนำไปปฏิบัตินั้นอาจยังทำให้เกิดความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดจากสังคม จึงต้องเร่งทำความใจให้กับสังคมมองคนกลุ่มนี้ใหม่
ส่วนเรื่องความเป็นไปได้ในการทำกัญชาให้ถูกกฎหมายในประเทศนั้น รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษา และทราบดีถึงข้อดี และประโยชน์ของการนำใบกัญชามารักษาโรคตามวิถีดั้งเดิมของชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกันไทยก็มีกฏหมายที่ระบุชัดเจนว่ากัญชาเป็นสารเสพติด ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ ตอนนี้ให้หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวไปศึกษาถึงข้อดีข้อเสียให้รอบคอบเพราะไทยยังไม่เปิดกว้าง รับไม่ได้ในเรื่องนี้ยังไม่ได้ให้การศึกษาที่ดีแก่ประชาชน เยาวชน ในเรื่องการแยก แยะเรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจ แม้อยากให้เกิดขึ้น แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่นโยบายรัฐต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ.-สำนักข่าวไทย