กรุงเทพฯ 23 พ.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผย
ส่งรายชื่อเกษตรกรให้กระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อน 700,000 ราย ซึ่งมีรายชื่อทะเบียนเกษตรกรของข้าราชการรวมอยู่ด้วย
ระบุตามความเห็นส่วนตัว ข้าราชการประจำที่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริมได้รับการดูแลจากรัฐอยู่แล้ว
แต่อำนาจการพิจารณาอยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ว่า
จะให้สิทธิ์หรือไม่
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ว่า เกษตรกรกลุ่มแรกที่ขึ้นและปรับปรุงทะเบียนก่อนวันที่ 30 เมษายน 8.33
ล้านรายนั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง
ผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญของกรมบัญชีกลาง
และระบบประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคมแล้วคงเหลือ 7.77 ล้านราย
ซึ่งกระทรวงการคลังส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ อนุมัติให้จ่ายเงินเยียวยาได้
6.85 ล้านราย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
จ่ายเงินมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
ซึ่งเป็นนายทะเบียนได้ส่งให้สศค. พิจารณาเพิ่ม 700,000 ราย
โดยมีรายชื่อเกษตรกรที่รับราชการประจำอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
แต่ตามความเห็นส่วนตัวข้าราชการประจำเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลจากรัฐอยู่แล้ว มีรายได้ประจำ
แต่การพิจารณาเป็นอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยตามมติครม.
วันที่ 28 เมษายน
ไม่ได้ระบุให้ตัดข้าราชการประจำออกจากโครงการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ขอย้ำว่า
กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาว่า จะจ่ายเงินเยียวยาให้แก่กลุ่มใดบ้าง มีหน้าที่เพียงรวบรวมทะเบียนเกษตรกร
ยืนยันการมีตัวตน ตรวจสอบว่า ทำเกษตรจริงเท่านั้น
เมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติการจ่ายเงิน ทางกระทรวงเกษตรฯ จะจัดส่งรายชื่อให้ธ.ก.ส.
โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร
ทั้งนี้การจ่ายเงินต้องทำด้วยความรอบคอบและโปร่งใสเพราะเป็นภาษีของประชาชน
นอกจากนี้มีเกษตรกรอีก 200,000 กว่ารายที่มีทะเบียนถูกต้อง
แต่เอกสารบางอย่างหรือข้อมูลทางบัญชีธนาคารที่ให้ไม่ครบถ้วนซึ่งอยู่ระหว่างติดต่อเพื่อให้มายื่นเอกสารและแก้ไขข้อมูลให้เรียบร้อย
หากพ้นระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยาแล้ว ผู้ที่มีทะเบียนเกษตรกรรายใดไม่ได้รับสิทธิ์
สามารถอุทธรณ์ได้ทุกกรณีซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสิทธิ์
โดยติดต่อทางระบบออนไลน์ได้ที่ www.moac.go.th หรือติดต่อที่หน่วยงานรับขึ้นทะเบียนในส่วนภูมิภาคทั่งประเทศ
“นอกจากเงินเยียวยาเกษตรกรรายละ 150,000 บาทแล้ว
กระทรวงเกษตรฯ ยังมีโครงการฟื้นฟูอาชีพที่ทำคู่ขนานกับการจ่ายเงินด้วยได้แก่
การหาตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกร การลดต้นทุนการผลิต
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม” นายเฉลิมชัยกล่าว
.-สำนักข่าวไทย