กรุงเทพ ฯ 18 พ.ค. – ธนาคารกสิกรไทยประเมินทิศทางตลาดตราสารหนี้ยังมีความผันผวนจากผลกระทบของโควิด-19 ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เอกชนออกหุ้นกู้ลดลงถึง 41% แต่คาดว่าปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้ใหม่ 900,000 ล้านบาท ส่วนหุ้นกู้บมจ.การบินไทย ยังไม่กระทบต่อภาพรวม ชี้ขึ้นอยู่กับความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟูของรัฐบาล
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์หุ้นกู้ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ที่ผ่านมาหุ้นกู้บมจ.การบินไทยเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น ซึ่งนักลงทุนที่ลงทุนเป็นนักลงทุนประเภทเฉพาะเจาะจง และ เรตติ้งหุ้นกู้การบินไทยอยู่ในระดับ A เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงแตกต่างจากบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งทิศทางหุ้นกู้บมจ.การบินไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูการบินไทยของรัฐบาล ซึ่งยังคงต้องรอความชัดเจน อย่างไรก็ตามกรณีหุ้นกู้การบินไทย ยังไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นกู้ เพราะนักลงทุนยังสนใจลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่มีชื่อเสียง มีงบการเงินที่ดี และ ได้รับการจัดอันดับเรตติ้งดี
“สำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้นกู้การบินไทยหากต้องการขายออกโอกาสหานักลงทุนซื้อต่อคงจะลำบาก เพราะจะมีการซื้อขายก็ต่อเมื่อมีความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการว่าจะไปในทิศทางไหน เพราะที่ผ่านมาเรตติ้งหุ้นกู้การบินไทยอยู่ในระดับ A เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงแตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ ที่เรตติ้งจะสะท้อนแบบแท้จริง”นายธิติกล่าว
นายธิติกล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการออกใหม่ของหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนลดลง โดยลดลงถึง 41% จาก 310,000 ล้านบาท ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 มาอยู่ที่ 180,000 ล้านบาท เป็นผลจากผู้ออกหุ้นกู้หลายรายตัดสินใจเลื่อนหรือชะลอการออกหุ้นกู้ เพื่อรอสภาพตลาดที่ดีขึ้น บางรายหันไปใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แทนในช่วงที่การออกหุ้นกู้มีความท้าทาย เนื่องจากความต้องการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากผู้ลงทุนประเภท บลจ. ที่มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ในขณะที่ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา จะสังเกตได้ว่าเน้นการลงทุนไปยังหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดีมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนที่น้อยลง ส่งผลให้หุ้นกู้ที่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือหรือสำหรับหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ แม้ว่าผู้ออกหุ้นกู้จะยอมให้อัตราผลตอบแทนในระดับสูง แต่ก็มียอดซื้อที่ไม่สูงตามเป้าหมาย สำหรับในปี 2563 นี้ ธนาคารกสิกรไทยยังคาดว่าจะมีหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนออกใหม่จำนวนประมาณ 900,000 ล้านบาท ลดลงจากระดับเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2558 โดยสาเหตุหลักมาจากแผนการลงทุนของผู้ออกหุ้นกู้ที่เลื่อนหรือยกเลิกไป ทำให้การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ชะลอออกไปด้วย ขณะที่ผู้ออกหุ้นกู้ในบางอุตสาหกรรม อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจยังไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุน
ในส่วนของความเสี่ยง ปี 2563 มีหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนสูงถึงประมาณ 600,000 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ครบกำหนดกว่า 100,000 ล้านบาท) ในส่วนนี้มีหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB+ ลงมา จำนวน 180,000 ล้านบาท ซึ่งบางรายอาจมีความยากลำบากในการออกทดแทน (Rollover) หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน หรือแม้แต่ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่านี้ แต่อยู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ก็อาจเผชิญกับความท้าทายในการออกทดแทนหรือออกหุ้นกู้ใหม่เนื่องจากความต้องการในตลาดมีไม่มากพอ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็จะมากขึ้น โดยในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่ามีผู้ออกหุ้นกู้บางรายที่ขอเลื่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้กับผู้ถือหุ้นกู้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมปรับตัวดีขึ้นบ้าง และความต้องการลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ต้นทุนของการออกหุ้นกู้นั้นไม่ได้ปรับลดลงตาม แต่มาอยู่ในระดับที่เรียกว่า New Normal ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นและส่งผ่านมายังส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ที่เพิ่มขึ้น 0.20–1.75 % เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย Credit Spread ที่สูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับรุ่นอายุ อันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงอุตสาหกรรมของผู้ออก ว่ามีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยหรือจากโควิด-19 มากน้อยเพียงใด.-สำนักข่าวไทย