กทม. 13 พ.ค. – การสื่อสารระหว่างแพทย์และพยาบาลสื่อสารกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาในห้องผู้ป่วยความดันลบด้วยมือถือ อาจมีบางครั้งที่ผู้ป่วยไม่ได้อยู่กับโทรศัพท์ตลอดเวลา หรือการที่แพทย์ พยาบาลเข้าไปทำหัตถการ ยิ่งเข้าไปบ่อยก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน ทั้งต้องเพิ่มปริมาณการใช้ชุด PPE อีกด้วย จะดีแค่ไหนหากมีนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเหล่านี้
เท้าเหยียบ ก่อนพูดใส่ไมค์ เพื่อสื่อสารพูดคุยกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักรักษาตัวอยู่ภายในห้องผู้ป่วยความดันลบ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีอุปกรณ์ชนิดเดียวกันติดตั้งอยู่ให้โต้ตอบกันได้ อุปกรณ์สื่อสารนี้เป็นผลงานของอาจารย์คณะวิศวะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมคุณสมบัติทั้งวิทยุสื่อสารและอินเตอร์คอมเข้าด้วยกัน กลายเป็นอุปกรณ์สมาร์ททอล์ก ทำให้สื่อสารกันได้ตลอดเวลา และแม้ผู้ป่วยจะมีโทรศัพท์มือถือ แต่ก็อาจเจอปัญหาผู้ป่วยไม่ได้เปิดเสียงโทรศัพท์ ทำให้จำเป็นต้องเข้าไป อุปกรณ์ชิ้นนี้จึงช่วยลดจำนวนครั้งที่แพทย์พยาบาลต้องเข้าไปในห้องความดันลบ ช่วยลดความเสี่ยง นอกจากนี้ เมื่อแพทย์พยาบาลเข้าไปดูแลผู้ป่วยในห้องความดันลบต้องใส่ชุด PPE ทำให้สื่อสารกับคนข้างนอกได้ลำบาก แต่อุปกรณ์นี้ช่วยแก้ปัญหาได้
โรงพยาบาลตำรวจยังนำอุปกรณ์นี้มาใช้ร่วมกับกล้องวงจรปิด เช่น การแนะนำวิธีให้ผู้ป่วยวัดอุณหภูมิร่างกายตนเอง และรายงานผลผ่านสมาร์ทอล์ก โดยพยาบาลไม่ต้องเข้าไปในห้องความดันลบ หรือเฝ้าระวังผู้ป่วยหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
อุปกรณ์นี้ถูกดัดแปลงให้เคลื่อนที่ได้เพื่อความสะดวก ทำให้แพทย์พยาบาลสามารถติดต่อกับผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ตอนนี้ทดลองใช้มาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ผลเป็นที่น่าพอใจ แพทย์บอกว่าการช่วยลดจำนวนครั้งที่แพทย์และพยาบาลต้องเข้าห้องผู้ป่วยความดันลบ เท่ากับช่วยลดจำนวนการใช้ชุด PPE ลงไปด้วย เพราะ 1 ครั้งที่เข้าไป เท่ากับการใช้ชุด PPE 1 ชุดเช่นกัน
เครื่องมือสื่อสารสมาร์ททอล์กนี้มีทดลองใช้แล้วในโรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มีเสียงสะท้อนว่าอยากให้อุปกรณ์นี้เพิ่มจอภาพที่สามารถสื่อสารแบบเห็นหน้า เพื่อรองรับการใช้งานที่มีการเคลื่อนที่ ซึ่งน่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้. – สำนักข่าวไทย