กรุงเทพฯ 1 พ.ค.- สำนักงานอัยการสูงสุด สรุปคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ในรอบ 1 เดือนที่มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฟ้องผู้ฝ่าฝืนทั่วประเทศ รวม 21,426 คน แต่สถิติคดีมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า จากข้อมูลการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในรอบ 1 เดือนของสำนักงานอัยการต่างๆ ทั่วประเทศ ที่พนักงานอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 30 เมษายน 2563 และได้รายงานเข้ามายังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของสำนักงานอัยการสูงสุด (ศบสค.อส.) ที่มีนายสาวิตร บุญประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุดเป็นประธานศูนย์ฯ โดยนายรัชต์เทพ ดีประหลาด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และนางณฐนน แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ร่วมกันทำการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินคดี ปรากฏว่า มีการฟ้องคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ในช่วงดังกล่าว ทั้งสิ้น 15,895 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 21,426 คน โดยศูนย์ฯ ศบสค.อส. ได้จัดทำรายงานสถิติคดีการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 30 เมษายน 2563 ดังกล่าว (ปรากฏตามกราฟที่แสดง)
นายประยุทธ เพชรคุณ ยังเปิดเผยด้วยว่า ถ้าดูย้อนหลังกลับไป 4 วัน คือ ช่วงระหว่างวันที่ 27 – 30 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่พบผู้ติดเชื้อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) รายใหม่ทั่วประเทศ แต่ละวันไม่ถึง 10 คน หากพิจารณาจำนวนผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉินในห้วงเวลาเดียวกันก็จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน เช่น ในวันที่ 30 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 คน ในขณะเดียวกันผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ทั่วประเทศ มีเพียง 656 คน เป็นต้น
จากความสัมพันธ์ของข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่าถ้ามีการปฏิบัติตามพระราชกำหนดฯ อย่างเคร่งครัด เช่น ให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย ไม่มั่วสุมทั้งในบ่อนการพนัน หรืองานสังสรรค์รื่นเริง จะยิ่งทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแนวทางในการป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อย่างไรก็ตาม นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ยังคงให้พนักงานอัยการทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ตามหนังสือสั่งการโดยเคร่งครัดต่อไป.-สำนักข่าวไทย