กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – “สนธิรัตน์” รับการบ้าน ส.อ.ท. เสนออุ้มค่าไฟฟ้าภาคประชาชนและอุตฯ 32 กลุ่ม พยุงตัวช่วงวิกฤติโควิด – 19 เอกชนหวั่นเงินอุ้มค่าไฟฟ้าบ้าน 2.36 หมื่นล้านบาท กระทบค่าเอฟทีในอนาคต แนะควรตัดจากกำไร 3 การไฟฟ้านำสั่งรัฐ และปรับค่าเชื้อเพลิงคำนวณเอฟทีสะท้อนราคาน้ำมันปัจจุบัน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานหารือกับภาคเอกชนในการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการนั้น ล่าสุดวันนี้ (30 เม.ย.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งข้อเสนอเพิ่มเติมให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดขาย ต้องลดกำลังผลิตมี 32 กลุ่มอุตสาหกรรม มีปริมาณการผลิต คำสั่งซื้อ ผลประกอบการลดลงอย่างมีนัยลดลงกว่าร้อยละ 70 มีภาระแบกรับค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ส.อ.ท.จึงขอเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมาตรการที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่
1.ขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (ร้อยละ70 ของDemand Charge ที่สูงที่สุดในรอบ 12 เดือน) ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 แก่ผู้ประกอบการประเภทที่ 3-7 จากเดิมที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือเวลา 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.63)
2.เห็นด้วยกับความช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงานเรื่องการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าภาคประชาชน ทั้งเรื่องลดค่าไฟฟ้า 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) และลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 แต่ขอให้พิจารณาเรื่องเงินที่ช่วยเหลือดังกล่าวกว่า 23,600 ล้านบาท ต้องไม่นำไปกระทบค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ ( FT) ในอนาคต เนื่องจากรับทราบว่าจะนำเงินมาจากการเงินบริหารจัดการจาก 3 การไฟฟ้า โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยสุดท้ายจะกลับมาเป็นภาระของผู้ประกอบการ โดยเอกชนเสนอให้หักเงินช่วยเหลือส่วนนี้จากรายได้ของ 3 การไฟฟ้าที่เป็นเงินกำไรที่นำส่งกระทรวงการคลัง
3.ส่วนเรื่องการคำนวนค่าไฟฟ้า FTเสนอให้มีการประเมินด้วยวิธีการที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเร็วขึ้น โดยใช้วิธีการคำนวณแบบ 3 Month Moving Average และเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งขณะนี้ต้นทุนน้ำมันมีราคาต่ำ หากใช้วิธีการคำนวณแบบเดิมที่คำนวณเชื้อเพลิงด้วยราคาก๊าซธรรมชาติย้อนหลัง 6-12 เดือน จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟทีสูงขึ้น
“สำหรับมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ ส.อ.ท.เสนอหารือกับทางกระทรวงพลังงานนั้น ในเรื่อง Demand Charge ทาง กกพ.ได้ดำเนินการแล้ว โดยจะเร่งออกประกาศเพื่อทราบสัปดาห์หน้า ส่วนเรื่องค่า FT และเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายสนธิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ สมาชิก ส.อ.ท.มี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และมี 32 กลุ่มฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยอดผลิตลดลงร้อยละ 70 ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องสำอาง สิ่งทอ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก ปูนซีเมนต์ หลังคาและอุปกรณ์ แกรนิตและหินอ่อน แก้วและกระจก เซรามิค โรงเลื่อยและโรงอบไม้ ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ เครื่องจักรกลการเกษตร ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก หล่อโลหะ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สมุนไพร น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน หัตถกรรมสร้างสรรค์ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 มีมติเห็นควรสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เพิ่มเติม หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอของกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ทั้งนี้ กกพ.ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณาแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาสนับสนุนมาตรการดังกล่าว โดยจะมาจากเงินบริหารค่าไฟฟ้าที่รวบรวมได้จากการกำกับฐานะการเงิน เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟฟ้าเอกชนในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน อย่างไรก็ตาม กกพ.ยังขอวิงวอนให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น เพื่อเป็นการช่วยประเทศชาติในการประหยัดทรัพยากรและเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้า.-สำนักข่าวไทย