กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – กยท. เผยสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบพื้นที่ติดโรคเหลือเพียง 20 ไร่เศษ จากมีพื้นที่ติดโรคเกือบ 800,000 ไร่ เป็นผลจากการผลัดใบตามฤดูกาลและสภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำทำให้เชื้อราก่อโรคลดลง ย้ำเกษตรกรชาวสวนยางหมั่นตรวจสอบสวนยางพารา หากพบอาการใบร่วงให้รีบแจ้ง กยท. ในพื้นที่เพื่อเข้าควบคุมโรคโดยทันที
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ต้นยางพาราที่ยังคงติดเชื้อโรคใบร่วงชนิดใหม่เหลือเพียง 20 ไร่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น หลังได้รับรายงานการติดเชื้อใน 10 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล พังงา ตรัง พัทลุง กระบี่ และสุราษฎร์ธานี พื้นที่เกือบ 800,000 ไร่ ทั้งนี้ กยท. พบการระบาดของโรคดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2562 ในจังหวัดนราธิวาส เกิดจากเชื้อราซึ่งแพร่กระจายในอากาศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาพร้อนชื้น ทั้งนี้กยท. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA ) ร่วมวิจัยหาแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์หาเชื้อ ทดสอบการเกิดโรคเพื่อยืนยันเชื้อสาเหตุโรค ทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดเชื้อรา และทดสอบอุปกรณ์และวิธีการฉีดพ่นที่เหมาะสมสำหรับสวนยาง นอกจากนี้ยังได้นำระบบดาวเทียมเข้ามาช่วยสำรวจพื้นที่ที่เกิดใบร่วง ดูทิศทางการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เกิดใบร่วงในแต่ละห้วงเวลา
นายกฤษดา กล่าวว่า กยท. เร่งออกคำแนะนำและเผยแพร่แนวทางการป้องการกำจัดโรค ตลอดจนสาธิตในแปลง และสนับสนุนปัจจัยในการป้องกันกำจัดโรคในหลายพื้นที่แล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงผลัดใบตามธรรมชาติของต้นยางพารา ประกอบกับฝนตกน้อยทำให้ความชื้นต่ำ เชื้อราจึงลดลงมาก จากการสำรวจพื้นที่ที่เคยเกิดโรคพบว่า ต้นยางที่ใบที่ร่วงทั้งจากถูกเชื้อราทำลายและผลัดใบตามฤดูกาล เริ่มแตกใบชุดใหม่ขึ้นมาและยังไม่ปรากฏการเข้าทำลายของโรคนี้
“เกษตรกรต้องหมั่นตรวจสอบสวนยางพารา ดูแลทำความสะอาดแปลง ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางพาราอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน อาจทำให้เชื้อราก่อโรคเพิ่มจำนวน แล้วเข้าทำลายใบยางได้อีก หากพบต้นยางใบร่วงและสภาพใบถูกทำลายจนเป็นรู ให้รีบแจ้ง กยท. ในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน” นายกฤษดากล่าว . – สำนักข่าวไทย