กรุงเทพฯ 28 เม.ย. – ธ.ก.ส. เดินหน้าโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 พื้นที่เป้าหมาย 45.7 ล้านไร่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครอง กรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืช โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ของการทำประกันภัย และกรณีเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. สมทบ ค่าเบี้ยประกันภัย พร้อมหนุนเกษตรกรทำประกันภัยส่วนเพิ่ม เพื่อเพิ่มความคุ้มครองและลดความเสี่ยงในการผลิต โดยเปิดรับทำประกันภัยแล้วตั้งแต่บัดนี้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต โดยใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 มีเป้าหมายส่งเสริมการทำประกันภัยบนพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ไม่เกิน 45.7 ล้านไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดย ธ.ก.ส. พร้อมอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถยื่นขอทำประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงนำบัตรประชาชนไปติดต่อก็สามารถทำประกันภัยได้ทันที
สำหรับเงื่อนไขโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 มีทั้งการประกันภัยขั้นพื้นฐาน กรณีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 97 บาท/ไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ กรณีเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงต่ำ อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ ในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ และในพื้นที่เสี่ยงสูง อัตรา ค่าเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ กรณีเป็นลูกค้าเงินกู้ ธ.ก.ส. ที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อปลูกข้าว ธ.ก.ส.จะจ่ายสมบทค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร 39 บาทต่อไร่ โดยคุ้มครองในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า วงเงินคุ้มครองจำนวน 1,260 บาทต่อไร่ และในกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด วงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่
นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนให้เกษตรกรทำประกันภัยส่วนเพิ่ม เพื่อเพิ่มความคุ้มครองที่มากขึ้นและสอดคล้องกับสภาวะอากาศของโลกในปัจจุบันที่แปรปรวนอย่างมาก โดยแบ่งตามระดับความเสี่ยง กรณีพื้นที่เสี่ยงต่ำ ชำระค่าเบี้ยประกันเพิ่ม 24 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ชำระค่าเบี้ยประกันเพิ่ม 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง ชำระค่าเบี้ยประกันเพิ่ม 101 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ การทำประกันภัยส่วนเพิ่มดังกล่าว เกษตรกรจะได้รับวงเงินคุ้มครอง เมื่อเกิดภัยธรรมชาติเพิ่มอีกในวงเงิน 240 บาทต่อไร่ รวมเงินประกันภัยที่ได้รับ 1,500 บาทต่อไร่ และกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด ได้รับวงเงินคุ้มครองเพิ่ม 120 บาทต่อไร่ รวมเงินประกันภัยที่ได้รับ 750 บาทต่อไร่ ระยะเวลาขายกรมธรรม์ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันสิ้นสุดการขายเป็นรายจังหวัด
นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรที่เป็นผู้เอาประกันภัยต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2563/64 กับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอ อย่างไรก็ตาม การใช้บริการที่สาขาจะดำเนินมาตรการตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.baac.or.th . – สำนักข่าวไทย