กทม. 22 เม.ย. – การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ยังเปิดจุดบริการตลาดยาง 222 แห่งทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระบายผลผลิตช่วงโควิด-19 ระบาด
จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ประเมินราคายางพาราในไตรมาส 2 ของปีนี้ว่า มีแนวโน้มทรงตัวและเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ นอกจากผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยลง ปริมาณสตอกยางตลาดสำคัญของโลกลดลง เช่น สตอกยางตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ สิ้นเดือนมีนาคม มีจำนวน 242,467 ตัน ลดลงร้อยละ 44.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากเรื่องราคาน้ำมันดิบผันผวน ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง การส่งออกรถยนต์ลดลง
ขณะที่รักษาการผู้ว่าการ กยท. ระบุว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้ชาวสวนยางมีช่องทางระบายผลผลิตที่ออกมา กยท. จึงมีจุดบริการตลาดยาง 222 แห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการกิจการยางพารา ในการซื้อขายยาง
สำหรับตลาดซื้อขายยางพาราทั้ง 222 แห่งทั่วประเท ศได้แก่ ตลาดกลางยางพารา 6 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลา เครือข่ายตลาดกลาง จำนวน 111 แห่ง และตลาด กยท.จังหวัดและสาขา จำนวน 105 แห่ง สามารถเข้าดูรายชื่อจุดบริการรับซื้อยางทั้ง 222 แห่งได้ที่เว็บไซต์การยางแห่งประเทศไทย www.raot.co.th -สำนักข่าวไทย
