กรุงเทพฯ 14 เม.ย.- รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ชี้ 3 รูปแบบ ยุติสงครามโควิด-19 ผลิตวัคซีนได้-เกิดภูมิคุ้มกันหมู่-ไวรัสสาบสูญ คาดยืดเยื้อเป็นปี ยันไม่มีผู้ติดเชื้อรายเดิมกลับมาเป็นใหม่ แต่อาจติดไวรัสสายพันธุ์อื่น หรือยังไม่หายขาด
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา วิเคราะห์ถึงการยุติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ว่า มี 3 รูปแบบ คือ 1. ค้นพบวัคซีน แล้วฉีดวัคซีนให้กับประชากรโลกทุกคน หรือส่วนใหญ่ 2. ติดเชื้อจนคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน หรือเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และ 3. ไวรัสก่อโรคหายสาปสูญไปจากโลก อาจจะโดยการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือเหตุอื่นที่มนุษย์คาดไม่ถึง ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้ไม่น่าจะเร็วกว่า 12 เดือน อาจใช้เวลาหลายปีก็เป็นได้
นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ดังนั้นแต่ละประเทศต้องทำให้การระบาดของโลกสงบลงชั่วคราว ด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องขนาดของประเทศ จำนวนประชากร สภาพภูมิอากาศ วินัย ความรู้ความเข้าใจ ความพร้อมของระบบสาธารณสุข อาชีพ-รายได้-เงินออมของคนในชาติ ระบบสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมากหรือไม่มีเลย แต่อาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ จนประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้บ้าง แต่คงไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้ทั้งหมด เช่น คงจะเดินทางไปมาระหว่างประเทศลำบาก ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปท่องเที่ยว การติดต่อต่าง ๆ ภายในประเทศต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่อีก เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่และมีผู้ติดเชื้อ ที่ไม่มีอาการแต่พร้อมจะแพร่เชื้ออีกด้วย ขณะนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุด มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวัน 4.02% ยอดผู้ติดเชื้อ 1.8 ล้านคน อัตราผู้เสียชีวิต 6.17% จำนวน 1.13 แสนคน หากสามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ การใช้ชีวิตจะผ่อนคลายมากขึ้น
ส่วนกรณีการติดเชื้อใหม่ที่พบในผู้ติดเชื้อรายเดิมในบางประเทศนั้น น.พ.เฉลิมชัย ระบุว่า มีความสับสนหรือเข้าใจว่ามีการติดเชื้อใหม่ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่การติดเชื้อใหม่โดยไวรัสตัวเดิมสายพันธุ์เดิม ซึ่งอาจจะเกิดจาก 1) บางโรคจะมีไวรัสมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์อยู่แล้ว ทำให้เกิดอาการเดียวกัน เมื่อหายจากสายพันธุ์หนึ่งจึงอาจเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งได้ เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติกับไวรัสสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยเป็น เช่น ไข้เลือดออก 2)อาจจะเกิดจากมีไวรัสซึ่งกลายพันธุ์ไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่ในขณะนี้โควิด-19 ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการกลายพันธุ์ 3)ติดเชื้อไวรัสจนมีอาการแล้วได้รับการรักษาดีขึ้นแต่ยังหายไม่สนิทจริง มีอาการน้อยมากจนคิดว่าหายและไวรัสก็เหลือน้อยมาก จนตรวจไม่พบเชื้อเลยคิดว่าหายสนิท พอมีอาการขึ้นมาใหม่ก็เลยนึกว่าเป็นการติดเชื้อใหม่ ทั้งที่เป็นโรคเดิมแต่ยังหายไม่สนิท โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจนมีอาการและได้รับการดูแลรักษาจนหายแล้ว หรือหายเองโดยธรรมชาติ ก็จะมีภูมิคุ้มกัน และจะไม่กลับมาติดเชื้อไวรัสตัวเดิมอีก ซึ่งเป็นหลักทั่ว ๆ ไปของโรคติดเชื้อไวรัส .-สำนักข่าวไทย