กรุงเทพฯ 7เม.ย.-ส.ว.เตือนพระราชกำหนดให้แบงก์ชาติรับซื้อหุ้นกู้ต้องไม่ให้รัฐแบกรับความเสี่ยงแทนกลุ่มทุนฝ่ายเดียว
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกพระราชกำหนดอนุญาตให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย รับซื้อหุ้นกู้เอกชน ว่า เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เพราะการออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ ออกมาขายประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ เกิดขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนรายใหญ่รายย่อยอยากได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าฝากธนาคาร และคิดว่าการซื้อหุ้นกู้จากบริษัทจดทะเบียนเป็นเรื่องเสี่ยงน้อย ทำให้หลายคนหลายบริษัทร่ำรวยทันที แต่บางคนบางบริษัทก็ไปไม่ได้ จึงเห็นว่าก่อนที่รัฐจะเข้าไปช่วย ต้องให้กลุ่มทุนที่ออกหุ้นกู้ช่วยตัวเองก่อน โดยร่วมแบกรับความเสี่ยงด้วย อาทิ ก่อนจะให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยรับซื้อหุ้นกู้ใด ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้นั้นต้องเข้ามาซื้อก่อนเป็นการส่วนตัวตามจำนวนที่กำหนดไว้ก่อน โดยอาจจะกำหนดไว้ที่ร้อยละ 50 และควร ลดเพดานการจัดอันดับ เรตติ้ง ของบริษัทเพื่อให้กระจายไปยังกลุ่มทุนที่ไม่ใหญ่มากนัก และควรมี หลักเกณฑ์การเข้าไปซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ในราคาที่เป็นธรรมมีฐานอ้างอิง สามารถตอบคำถามได้ การให้ธนาคารกลางลงมาใช้เงินเพื่อการแก้ปัญหาต้องคิดกันหลายชั้นและระมัดระวังให้ถึงที่สุด
นายคำนูณ กล่าวว่า ธนาคารมีหน้าที่พิมพ์เงินใช้ได้ แต่การพิมพ์เงินนั้นไม่ใช่พิมพ์ขึ้นมาโดยไม่มีฐานรองรับ เพราะต้องอยู่บนฐานและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของทุนสำรองเงินตรา และทุนสำรองเงินตราคือทุนรอนก้อนสุดท้ายของเราที่บรรพบุรุษสะสมต่อเนื่องกันมาหลายรุ่นด้วยเลือดด้วยเนื้อครับ เมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน ไม่มีเงินมาไถ่ถอนได้พอ จะออกหุ้นกู้ใหม่มาขยายเวลาก็หาคนซื้อยาก แน่นอนว่าหากไม่แก้ปัญหานี้โดยด่วน อาจจะลามเป็นวิกฤตตลาดทุน วิกฤตสถาบันการเงิน แต่การให้แบงก์ชาติมารับภาระรับซื้อจะมีคำถามที่ต้องเตรียมคำตอบให้ดี คำถามพื้นฐานเลยคือนี่ใช่ภารกิจของแบงก์ชาติหรือไม่ การเอาเงินของคนทั้งชาติมาแก้ปัญหาวิกฤตหุ้นกู้นี้ เอาละเพื่อป้องกับวิกฤติลามเป็นวิกฤตตลาดทุนและวิกฤตสถาบันการเงินซึ่งสุดท้ายก็จะกระทบคนทั้งชาติอยู่ดี จึงไม่น่าจะเป็นการสมควรที่จะให้คนทั้งชาติต้องไปแบกรับความเสี่ยงฝ่ายเดียว
“ขอเสนอมาด้วยความเคารพ และอย่าลืมนะครับว่าหนี้ที่แบงก์ชาติก่อไว้จากวิกฤตเมื่อปี 2540 แล้วโอนมาเป็นหนี้ของชาติของแผ่นดินจำนวน 1.4 ล้านล้านบาทนั้น บัดนี้ก็ยังใช้ไม่หมด ยังเหลืออยู่อีกหลายแสนล้านบาท วิกฤต 2540 คือกลุ่มทุนกู้เงินตราต่างประเทศดอกเบี้ยถูกมาใช้ในประเทศที่ดอกเบี้ยแพงกว่ามาก อย่าให้วิกฤต 2563 เป็นเพราะกลุ่มทุนหวังใช้เงินจากหุ้นกู้ที่ได้ง่ายกว่าเงินกู้จากสถาบันการเงินและนักลงทุนในประเทศต้องการได้ดอกเบี้ยแพงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเลยครับ” นายคำนูณ ระบุ
ส่วนเรื่องการโอนงบประมาณส่วนที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 จากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ มาเป็นงบกลางนั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ฟังดูแล้วยังไม่ลงตัว ทั้งตัวเลขที่จะตัดออกมาได้ และมุมมองทางกฎหมายที่ว่าจะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้นหรือไม่.-สำนักข่าวไทย