นนทบุรี 5 เม.ย. – กรมเจรจาฯ เผยตลาดสินค้าอาหารฮาลาลมาแรง เชียร์ผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอขยายส่งออก โดยเฉพาะข้าว ผลไม้สดแห้งแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูปและกระป๋อง และน้ำตาล
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาหารฮาลาลถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูงและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกอาหารฮาลาลสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเภทข้าว ผลไม้สดแห้งแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูปและกระป๋อง และน้ำตาล เนื่องจากได้เปรียบด้านวัตถุดิบต้นน้ำที่นำมาผลิตอาหารฮาลาล นอกจากนี้ ตลาดกลุ่มอาหารฮาลาลยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีผู้บริโภคกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 29 ของประชากรโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีทั้ง 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ เพื่อส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน รวมถึงประเทศที่มีกำลังการบริโภคกลุ่มอาหารฮาลาลสูง เช่น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นต้น เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกีและปากีสถาน และมีแผนจะเจรจาเอฟทีเอกับบังกลาเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดกลุ่มอาหารฮาลาลในอนาคตอีกด้วย
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกกลุ่มอาหารฮาลาลอันดับ 1 ในอาเซียน รวมถึงเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย (รองจากจีน และอินเดีย) และอันดับที่ 12 ของโลก โดยปี 2562 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารฮาลาลไปทั่วโลกรวมมูลค่า 29,331 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกไปจีนมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สหรัฐ และญี่ปุ่น ขณะที่การส่งออกไปประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) 57 ประเทศ มีมูลค่ารวม 5,217 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 16 ของการส่งออกสินค้าทุกรายการ มีสินค้าส่งออกสำคัญไปยังกลุ่ม OIC เช่น น้ำตาลทราย ส่งออก 1,463 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของการส่งออกอาหารฮาลาลทั้งหมด รองลงมา คือ ข้าว ส่งออก 1,422 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 27 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่งออก 683 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน ร้อยละ 13 และอาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงแต่งอาหาร ส่งออก 258 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 5 เป็นต้น โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปประเทศในกลุ่ม OIC สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เบนิน ซาอุดิอาระเบีย และแคมารูน นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นที่มีแนวโน้มต้องการอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐฯ รัสเซีย และอินเดีย
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบและเครื่องดื่มจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม พร้อมยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายฮาลาลและหนังสือรับรองการผลิตอาหารฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และควรพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น อาหารออร์แกนิคเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับคนในชุมชนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบาย และผู้สูงอายุที่เน้นบำรุงสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเจาะตลาดใหม่ ๆ เช่น ประเทศที่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่หรือไปท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย.-สำนักข่าวไทย