ก.คลัง 30 มี.ค. – คลังเผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.ชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม การจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนภาพรวมมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่กลับมาขยายตัว 4.6% ต่อปี อย่างไรก็ตาม การบริโภคหมวดสินค้าคงทน จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ -15.4% และ – 3.7% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.5 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจในอนาคต
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ -10.2% และ -18.1% ต่อปี สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ -1.9% ต่อปี จากเดือนก่อน -5.0% ขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ -18.8% ต่อปี และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง -2.0% ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง
ด้านเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมา -4.5% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.3% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับปัจจัยฐานสูงของอาวุธในการซ้อมรบในช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัยออกแล้ว พบว่าการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัว 1.5%
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า จำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลาง และอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงขยายตัว 16.4% และ 6.1% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ -4.3% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกินดุล 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย 2.06 ล้านคน หรือ -42.8% ต่อปี จากการลดลงในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนถึง -84.9% และนักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ อาทิ นักท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย -72.6% -54.8% และ -39.6% ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร -4.5% ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม -5.2% ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำตาล และเม็ดพลาสติก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อาหารทะเลแช่แข็ง และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.2 ตามการลดลงในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.7% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะสิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 41.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 229.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ.-สำนักข่าวไทย