กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – กรุงศรี-กสิกรไทย พร้อมเสริมมาตรการสภาพคล่อง เพิ่มความแข็งแกร่งให้ บลจ.
นายเซอิจิโระ อาคิตะ ประธานคณะกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาพร้อมสนับสนุนมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมตราสารหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับการลงทุนในตราสารหนี้และเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน เนื่องจากกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดทุกกองทุนของ บลจ.กรุงศรี มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ของมาตรการนี้ทุกประการ ในฐานะบริษัทแม่ของ บลจ.กรุงศรี ธนาคารขอให้ความมั่นใจกับผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.กรุงศรี ว่าธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนการบริหารกองทุนกรุงศรีตามมาตรการนี้
นอกจากนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.กรุงศรี เน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี และผู้จัดการกองทุนได้มีการประเมินสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับความผันผวน พร้อมการบริหารสภาพคล่องให้มีเพียงพอต่อการไถ่ถอนหน่วยลงทุนมาโดยตลอด ธนาคารจึงเชื่อมั่นว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.กรุงศรี ยังคงเป็นทางเลือกที่ผู้ลงทุนทุกท่าน และลูกค้าของธนาคารสามารถให้ความไว้วางใจลงทุนได้อย่างที่เคยเป็นมาเสมอ
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก และ ธปท.ได้ออกนโยบายเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเปิดตราสารหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวม (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) นั้น ธนาคารได้มีการดูแลและมุ่งเน้นการควบคุมความเสี่ยงของบริษัทจัดการกองทุนที่เป็นบริษัทของธนาคารอย่างใกล้ชิดและเข้มงวดมาโดยตลอด ส่งผลให้กองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ. กสิกรไทย มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างรอบคอบ โดยมีการกระจายการลงทุนไปในทั้งเงินฝากและตราสารหนี้หลากหลายประเภททั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เอกชนที่มีความมั่นคงสูงและส่วนใหญ่มีอันดับความน่าเชื่อถืออย่างน้อยที่ระดับ A ขึ้นไป สำหรับการลงทุนในต่างประเทศเกือบทั้งหมดจะเป็นการลงทุนในเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่ซึ่งมีเครดิตที่ดี
นอกจากนี้ กองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.กสิกรไทย มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการเสริมสภาพคล่องของ ธปท. โดยธนาคารมีความพร้อมในการสนับสนุนมาตรการของธปท.ด้วยการเพิ่มช่องทางให้กองทุนดังกล่าวสามารถกู้ยืมเงิน หรือนำหลักทรัพย์ที่ลงทุนมาทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืนในนามกองทุนรวม เพื่อเสริมศักยภาพในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย