รัฐสภา 25 มี.ค. – กมธ.ป.ป.ช. จี้ ถามศุลกากร หลังพบพิรุธยอดส่งออกหน้ากากอนามัย ช่วง 4 วันก่อนประกาศเป็นสินค้าควบคุม มากถึง 135 ตัน สั่งแจงรายชื่อบริษัทส่งออกและยอดสินค้าทั้งหมดใหม่ 1 เม.ย. นี้
การประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (25 มี.ค. มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ซึ่งเป็นกรรมาธิการชุดเดียวที่นัดทำงานในช่วงนี้ ได้พิจารณาคำร้องกรณีบุคคลร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกักตุน และลักลอบนำเข้าหน้ากากอนามัยส่งไปขายยังต่างประเทศ ฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งกรมการค้าภายใน และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง แต่กรมการค้าภายในแจ้งว่าติดภารกิจ จึงมีเพียงกรมศุลกากรเท่านั้นที่มาชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมาธิการพยายามจี้ถามถึงยอดการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ชี้แจงว่า การส่งออกหน้ากากอนามัยเดือนมกราคม มีการส่งออกทั้งหมด 158 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ 187 ตัน แบ่งเป็น ช่วงวันที่ 1 – 4 กุมภาพันธ์ ก่อนจะประกาศเป็นสินค้าควบคุม มีการส่งออกทั้งสิ้น 135 ตัน หรือ ประมาณ 72% ของการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่มีการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ต้องมีการขออนุญาตส่งออก คือ วันที่ 5-20 กุมภาพันธ์ ส่งออก 12.7 ตัน และวันที่ 21-29 กุมภาพันธ์ ส่งออก 38 ตัน
กรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ แค่ 4 วันเหตุใดจึงมีการส่งออกมากถึง 72 % ของทั้งเดือน เป็นเรื่องที่น่าผิดสังเกต พร้อมตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็นกับผู้ประกอบการหรือไม่ว่า ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป หน้ากากอนามัยจะถูกประกาศเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งประเด็นนี้ โฆษกกรมศุลกากร ชี้แจงว่า ผู้ประกอบการบางรายอาจใส่รหัสสินค้าผิด ทำให้ทุกอย่างรวมเป็นหน้ากากอนามัยทั้งหมด ซึ่งเป็นคำตอบที่กรรมาธิการ ยังไม่พอใจและได้ให้กรมศุลกากร นำเอกสาร รวมถึง รายชื่อบริษัทที่ส่งออกหน้ากากอนามัยในช่วง 4 วัน ก่อนประกาศเป็นสินค้าควบคุมมาชี้แจงกับกรรมาธิการอีกครั้ง
นอกจากนี้ กรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า คำสั่งของนายรัฐมนตรีที่ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชนิดออกมาในวันที่ 17 มีนาคม แต่ปรากฎมีกระแสข่าวว่า วันที่ 16 มีนาคม มีผู้ประกอบการรายหนึ่งเร่งรัดส่งออกหน้ากากอนามัยผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นการรู้ล่วงหน้าก่อนหรือไม่
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า จากความเห็นส่วนตัว ไม่น่าเป็นความจริง เพราะมีการห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์แล้ว พร้อมยืนยันว่า การทำงานของกรมศุลกากรไม่มีแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง และการแถลงตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัย ที่ไม่ตรงกับกรมการค้าภายใน จนเป็นประเด็นกันนั้น ก็เป็นการแถลงตัวเลขตามข้อเท็จจริง และเป็นการแถลงเพียงภาพรวมเท่านั้น ไม่ได้ลงรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการได้นัดให้กรมศุลกากรมาชี้แจงอีกครั้ง ในวันที่ 1 เมษายน และได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะรายชื่อบริษัทผู้ส่งออก และแต่บริษัทมีการส่งออกจำนวนเท่าไร ในช่วง 4 วันก่อนที่จะมีการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม เพราะมีการส่งออกมากถึง 72% ของทั้งเดือน