กทม.17 มี.ค.- ศาลสั่งคุก 3 เดือน ไม่รอลงอาญา สาวหลอกศาลติดกักตัวโควิด-19 ยื่นคำร้องเท็จขอเลื่อนคดีปลอมเอกสารเพื่อไปใช้สมัครบัตรเครดิตคนอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ ศาลไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีมีการกล่าวหา น.ส.ปารณีย์ (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง คดีปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่ง น.ส.ปารณีย์ มาศาลอาญา และติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีที่ศาลนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานโดยระบุในคำร้องว่า เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ได้ร่วมประชุมกับพนักงานชาวสิงคโปร์ซึ่งติดโควิด- 19 จึงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
เจ้าหน้าที่ศาลรับเรื่อง จึงรีบรายงานนายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และนายชนุดม ปิติฤกษ์ เลขานุการศาลอาญาทราบ จากนั้นได้ประสานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอคำปรึกษาและมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ 3 คน และ รปภ. 2 คน ที่สัมผัสกับ น.ส.ปารณีย์ กลับไปกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน พร้อมทั้งทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสดังกล่าวที่ศาลอาญา
ศาลอาญาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังบริษัทที่ น.ส.ปารณีย์ อ้างว่าเป็นพนักงาน บริษัทดังกล่าวทำหนังสือชี้แจงมีใจความว่า “น.ส.ปารณีย์ เป็นพนักงานตำเเหน่ง Customer Experience Specialist ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมกับพนักงานชาวสิงคโปร์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เดินทางมาสำนักงานใหญ่ของบริษัทช่วงวันที่ 5 – 6 มี.ค. และ น.ส.ปารณีย์ ไม่ได้เดินทางไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทในช่วงเวลาที่ผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศไทย โดยเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่อีกอาคารหนึ่ง และทางบริษัทไม่ได้มีคำสั่งให้ น.ส.ปารณีย์ กักตัว 14 วัน”
ต่อมาเมื่อถึงวันนัดดังกล่าวในวันที่ 16 มี.ค.น.ส.ปารณีย์ ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องและไม่สามารถติดต่อได้ พฤติการณ์มีเหตุควรสงสัยว่า น.ส.ปารณีย์ หลบหนี ศาลจึงให้ออกหมายจับ น.ส.ปารณีย์ และมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับของศาล โดยเจ้าพนักงานตำรวจศาลสามารถติดตามจับกุม น.ส.ปารณีย์ ได้ในวันนี้(17 มี.ค.)
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ น.ส.ปารณีย์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จเพื่อหวังผลในการดำเนินคดีของตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมนั้น นอกจากจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้าแล้ว ยังก่อให้เกิดความหวาดกลัวและตื่นตระหนกต่อประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาล จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลไต่สวนแล้วพบว่า น.ส.ปารณีย์ กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 พิพากษาให้จำคุก 3 เดือน ไม่รอลงอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว ไม่มีญาติมายื่นคำร้องและหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราว น.ส.ปารณีย์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้ควบคุมตัวไปขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่คดีของ น.ส.ปารณีย์ ถูกอัยการยื่นฟ้องนั้น เป็นคดีปลอมเอกสารเพื่อไปใช้สมัครบัตรเครดิตคนอื่น ศาลได้นัดพร้อมคู่ความอีกครั้งในวันที่ 27 เม.ย. นี้ เวลา 09.00 น.
นายชนุดม ปิติฤกษ์ เลขานุการศาลอาญา กล่าวว่า คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่าง ประชาชนคู่ความที่จะมาติดต่อศาลได้ตระหนักว่าไม่ควรใช้สถานการณ์ช่วงนี้มาเป็นเหตุในการที่จะก่อให้เกิดการตื่นตระหนก เพื่อหวังผลทางคดี และว่านายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ประกาศศาลอาญา เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019, COVID-19) ด้วย ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แพร่ระบาดในหลายประเทศเป็นเหตุให้มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในอัตราเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องมีมาตรการดูแลสุขภาพของประชาชนพร้อมกับการควบคุมการแพร่กระจายของโรค สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้การดำเนินการติดตาม ป้องกัน เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ศาลอาญา จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน ดังนี้
1.ขอความร่วมมือให้คู่ความหรือประชาชน ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม, พนักงานราชการศาลยุติธรรม และลูกจ้างในศาลอาญา เข้า – ออกบริเวณด้านหน้าศาลอาญาเพียงจุดเดียว เพื่อเฝ้าระวังและคัดกรอง โดยขอสงวนสิทธิ์หากตรวจพบผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูง ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ห้ามเข้าบริเวณอาคารศาลอาญา
2.กรณีที่คู่ความหรือประชาชน ที่ต้องมาติดต่อราชการศาล อยู่ระหว่างติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรืออยู่ในภาวะเสี่ยง หรือโดนกักตัว 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังดูอาการจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ท่านสามารถติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลอาญา ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-5412284-90โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล หรือหากมาศาลต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือผู้อำนวยการฯ ทันที หากข้อความที่แจ้งเป็นเท็จเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) หรือไม่แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
3.ขอให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม , พนักงานราชการศาลยุติธรรม และลูกจ้างในศาลอาญา ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค หรือหน่วยงานทางราชการอย่างใกล้ชิดเป็นสำคัญ และขอให้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกรมควบคุมโรค เช่น ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ , สวมหน้ากากอนามัย , ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยทางเดินหายใจ , ผู้ป่วยไอจามหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
4.หากปรากฏว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ให้ข่าว หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทางสื่อออนไลน์หรือด้วยประการใดๆ ซึ่งบิดเบือนจากข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เกิดการตื่นตระหนก ตกใจกลัวต่อประชาชน สร้างความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลอาญา บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้.-สำนักข่าวไทย
