กรุงเทพฯ 2 มี.ค. – มูลนิธิผู้บริโภคจับมือสหภาพฯ กทพ.ฟ้องศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนมติ ครม.ต่อสัญญาทางด่วน 15 ปี 8 เดือน ให้เอกชน ระบุขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ใช้ทางต้องจ่ายค่าทางด่วนแพงเกินจริง
นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทนาย และตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ทางด่วนศรีรัช รวมถึงส่วน D และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน- ปากเกร็ด รวมทั้งเพื่อขอมติของคณะกรรมการ กทพ.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยขอให้ศาลคุ้มครองทุเลาการบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรี โดยขอให้ศาลพิจารณาคำขอคุ้มครองก่อนมีคำพิพากษาโดยเร่งด่วน
นางสารี กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นมติที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ ซึ่งรัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงเป็นผู้ใช้ทาง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา แต่ไม่มีการดำเนินการ การแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เพื่อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในการให้บริการ ซึ่งประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนจากการที่มติ ครม.และ กทพ.เร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อนวันหมดอายุสัญญาสัมปทาน หรือก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเป้าประสงค์ให้เอกชนรายเดิมได้ต่อสัญญาสัมปทานเพียงรายเดียว
นอกจากนี้ ตัวเลขหนี้ที่นำมาคำนวณอายุการต่อสัญญาสัมปทานให้เอกชนนั้น ก็เป็นตัวเลขที่ภาครัฐมโนไปเองว่าคดีทั้งหมดภาครัฐจะแพ้คดี ทั้งที่ยังไม่มีการต่อสู้หรือถูกฟ้องคดีทั้งหมด แต่กลับนำมารวมในการคำนวณค่าเสียหาย
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่าการขยายอายุสัญญาดังกล่าว ทำให้รัฐเสียหาย 271,721 ล้านบาท ซึ่งควรเป็นรายได้ของ กทพ. หรือรายได้ของประเทศ เพราะหากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานหลังสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และคาดการณ์รายได้เดิมระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ซึ่งมาจากสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ประมาณ 233,000 ล้านบาท รวมกับรายได้ส่วน D อีกประมาณ 18,000 ล้านบาท และรายได้สัญญาสัมปทานบางปะอิน-ปากเกร็ด 19,600 ล้านบาท และมูลหนี้ที่ต้องชำระจากการแพ้คดีจริงมีแค่ 4,318 ล้านบาทเท่านั้น แต่รัฐบาลกลับนำคดีที่ยังไม่แพ้ไปรวมเป็นค่าเสียหายรวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 78,908 ล้านบาท และที่สำคัญเมื่ออายุสัญญาสัมปทานหมดลงและโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวต้องกลับมาเป็นของรัฐ และเมื่อไม่ต้องมีการแบ่งรายได้กับเอกชน ค่าผ่านทางที่แท้จริงที่ประชาชนต้องจ่ายก็จะอยู่ที่คนละ 36 บาทเท่านั้นไม่ใช่ 60 บาทเหมือนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทีมทนายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังระบุถึงปัญหาค่าโง่ที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาสัมปทานทางด่วนในอดีต ซึ่งจะต้องไปไล่เบี้ยข้อกฎหมายว่าที่ผ่านมาใครเป็นคนทำสัญญา มีรายละเอียดอย่างไร และใครให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายในการทำสัญญา ซึ่งต้องไปไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่มาผลักภาระให้แก่ประชาชน.-สำนักข่าวไทย