ลุ้น “ทวี ไกรคุปต์” ชี้แจงสิทธิ์ถือครองที่ดินสวนผึ้งพรุ่งนี้

กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – เลขาฯ ส.ป.ก.ชี้ “ทวี ไกรคุปต์” เหลือเวลาเพียง 2 วัน ชี้แจงสิทธิ์การครอบครองที่ดินสวนผึ้ง เบื้องต้นอ้างมีเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน แต่พร้อมนำชี้แนวเขตให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.พ. จึงสั่งด่วนให้ปฏิรูปที่ดินราชบุรีประสาน เพื่อจะได้รังวัดแนวเขตปฏิรูปที่ดิน หากพบถือครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบต้องคืนที่ดิน รอลุ้นมาตามนัดหรือไม่


นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้น ว่า นายทวี ไกรคุปต์ บิดา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ประมาณ 550 ไร่ ตามที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ ต.แก้มอ้น เบิกไพร ด่านทับตะโก ปากช่อง จอมบึง และรางบัว อ.จอมบึง ต.ป่าหวาย ท่าเคย และตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง รวมทั้ง ต.หนองพันจันทร์ บ้านคา และบ้านบึง อ.บ้านคา จ. ราชบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2554 โดยที่ดินนายทวีครอบครองมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ คอกเลี้ยงสัตว์ สวนยูคาลิปตัส สระน้ำ และถังเก็บน้ำ แต่ ส.ป.ก.ยังไม่ได้เข้ารังวัด

ทั้งนี้ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีมีหนังสือที่ รบ 0011/2125 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ถึงนายทวี เพื่อมาให้ข้อเท็จจริงการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินภายใน 15 วัน ซึ่งนายทวี ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงการถือครองที่ดิน โดยอ้างเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดินเป็น น.ส.3 เลขที่ 2 เลขที่ 3 และเลขที่ 4 ต.ท่าเคย (ป่าหวาย) อ.สวนผึ้ง (จอมบึง) จังหวัดราชบุรี พร้อมส่งสำเนาประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาสวนผึ้ง เรื่อง ออกใบแทน น.ส. 3 รายบริษัท วิศวกรรมการเกษตรรุ่งเรือง จำกัด 3 ฉบับ รวมเนื้อที่ 119-2-24 ไร่ ต่อมาปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีมีหนังสือที่ รบ 0011/2216 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรี เพื่อตรวจสอบรายการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัท วิศวกรรมการเกษตรรุ่งเรือง จำกัด ปรากฏว่านายทวี มีตำแหน่งเป็นกรรมการมีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียว ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท


ขณะเดียวกันมีหนังสือที่ รบ 0011/2217 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาสวนผึ้ง สอบถามตำแหน่งพิกัดที่ตั้งที่ดิน น.ส. 3 จำนวน 3 ฉบับดังกล่าว ซึ่งได้รับแจ้งกลับตามหนังสือลงวันที่ 15 มกราคม 2563 ว่า ไม่ทราบตำแหน่งพิกัด เนื่องจาก น.ส. 3 ดังกล่าว เป็นรูปแผนที่ลอย ไม่ระบุตำแหน่งพิกัด หากต้องการทราบต้องให้ผู้ถือครองที่ดินขอสอบเขตต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาสวนผึ้ง จึงสั่งการให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีมีหนังสือที่ รบ 0011/325 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงนายทวี เพื่อแจ้งให้ยื่นขอสอบเขตที่ดิน น.ส.3 ตามที่กล่าวอ้าง เพื่อนำชี้ขอบเขตการถือครองที่ดินเพื่อที่ทางส.ป.ก.จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนในพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 

ทั้งนี้ นายทวี ประสานกลับว่าได้รับหนังสือแจ้งและจะไปยื่นคำขอสอบเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ พร้อมจะแจ้งวันนัดหมายมายัง ส.ป.ก. เนื่องจาก ส.ป.ก.จะเข้าร่วมระวังแนวเขตในการสอบเขตที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาสวนผึ้ง รวมทั้งกำหนดแผนสำรวจรังวัดที่ดินตามการนำชี้ของนายทวี วันเดียวกัน เพื่อให้ทราบเนื้อที่และขอบเขตที่ดิน หากพบว่าถือครองที่ดินของ ส.ป.ก.โดยมิชอบจะต้องคืนสิทธิ์ เพื่อนำที่ดินดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินแก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติโดยเร็วที่สุด 

“ส.ป.ก.นัดหมายผู้ปกครองท้องที่และผู้ถือครองที่ดินรายอื่น ๆ ในหมู่ที่ 9 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินมาแสดงการถือครองที่ดินระหว่างวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ มีผู้ถือครองที่ดินมาแจ้งอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้รอแต่นายทวีนัดหมายว่าจะดำเนินการชี้แจงเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินและนำชี้แนวเขตพื้นที่ที่ถือครองอยู่ภายในสิ้นเดือน ซึ่งจะสิ้นสุดกำหนดนัดวันพรุ่งนี้ (29 ก.พ.)  ซึ่งยังไม่ทราบว่านายทวีจะมาตามนัดหรือไม่” นายวิณะโรจน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เชียงใหม่อากาศแปรปรวน เจอลมหนาว-ฝนตก 3 วันติด

ชาวเชียงใหม่เจอลมหนาวและฝนตกต่อเนื่อง 3 วันติด อุตุฯ ย้ำอากาศแปรปรวน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ยังมีฝนตกและลมหนาว แนะรักษาสุขภาพ

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผย “เหนือ-อีสาน” อากาศเย็นตอนเช้า-ภาคใต้ฝนหนัก

กรมอุตุฯ เผย “เหนือ-อีสาน” อากาศเย็นในตอนเช้า เตือนภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมอัปเดตเส้นทางพายุ “หยินซิ่ง”

MOU44

MOU 44 ผลประโยชน์ชาติ กับ การเมือง ตอนที่ 1

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องเอ็มโอยู 44 และเส้นแบ่งอาณาเขตทางทะเล หรือเส้นเคลม กลายเป็นปมร้อน ท่ามกลางความกังวลถึงผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และสิทธิเหนือเกาะกูด ติดตามความเห็นและมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องในรายงาน “ปมร้อน เอ็มโอยู 44 ผลประโยชน์ชาติ กับ การเมือง”