กรุงเทพฯ 22 ก.พ.-เลขาธิการ คปภ. ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจแล้ว มีผลบังคับใช้ 1 เมษายน นี้ โดยภาคบังคับคุ้มครองสูงสุด 5 แสนบาท ภาคสมัครใจ 2 ล้านบาท รวมทั้งปรับคุ้มครองรถอีวีให้เหมาะสม
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จาก มาตรการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน และเป็นไปตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2563 สาระสำคัญข คือ การเพิ่มความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.- ภาคบังคับ) กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ และสูญเสียอวัยวะ จากเดิมที่คุ้มครอง 200,000 – 300,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 – 500,000 บาท แล้วแต่กรณี
และการปรับเพิ่มความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) กรณีบุคคลภายนอกเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ ห้าแสนบาท ถึง สองล้านบาท สำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เกินจาก สองล้านบาท ให้ชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันอีกด้วย อาทิเช่น การกำหนดรหัสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานราคาค่าซ่อมรถยนต์ รวมถึงการปรับปรุงข้อยกเว้นต่างๆ เป็นต้น
การแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนโดยรวม ใน 3 ประการหลักๆ คือ เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ใช้มานานกว่า 12 ปี ให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน และลดปัญหาความขัดแย้งในการตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย,เพิ่มความคุ้มครองในส่วนของชีวิต ร่างกาย ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ และปรับปรุงคำอธิบายความในคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยและใช้เป็นคู่มือของประชาชนได้
ทั้งนี้ ทางคปภ.ได้จัดชี้แจงทำความเข้าใจในภาคส่วนต่างๆ โดยการประกันภัยรถยนต์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยของไทย เบี้ยประกันภัยรับตรงต่อปีมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 หรือ 3 ใน 5 ของเบี้ยประกันภัยรับในธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบ -สำนักข่าวไทย