กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – ปตท.จัดงบ 2 แสนล้าน ลงทุน 5 ปี ด้านพลังงานสะอาดในไทย เชื่อปีนี้อุตสาหกรรมรอดภัยแล้ง แต่ต้องเร่งแผนรับมือระยะยาว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ในการหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ ยืนยันว่ากลุ่ม ปตท.เตรียมเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ลงทุนในช่วง 5 ปี (2563-2567) สำหรับพลังงานสะอาดในไทยและเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งนี้ บมจ.ไทยออยล์อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาด ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น โดยจะอัพเกรดน้ำมันเตาเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล ขณะที่ ปตท.สร้างท่อก๊าซธรรมชาติและคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของเชื้อเพลิงรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจาก LNG ผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง จากการที่เข้าร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และยังรอความชัดเจนการได้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
ส่วนการที่ทั่วโลกจะลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง กลุ่ม ปตท.จะเปลี่ยนเม็ดพลาสติกที่ผลิตได้ในปัจจุบันเป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้นานเป็นเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษมากขึ้นและรองรับการประหยัดพลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดย บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ลงทุนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาคลังสินค้า โรงงาน หรือสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงส่งเสริมสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งเจรจากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้เกิดการขายไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่ เพื่อรองรับการขายไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งอาจจะส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมระยะยาว โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แม้ว่าปีนี้เชื่อว่าน่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ เพราะมีการเชื่อมท่อรองรับการผันน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี มาให้ จ.ระยอง แต่ระยะยาวควรจะเปิดประมูลแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้เอกชนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
ส่วนการนำเข้า LNG ปัจจุบัน ปตท.มีคลัง LNG อยู่แล้ว 1 แห่ง ขนาด 11.5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 1 แห่ง ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี คิดเป็นปริมาณรวม 19 ล้านตัน หรือประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน น่าจะช่วยรองรับการใช้ในภาคไฟฟ้าและอุตสาหกรรมได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทดลองนำเข้า LNG ต้องพิจารณาถึงสัญญาการซื้อขายก๊าซฯ ที่ ปตท.มีในอ่าวไทย เมียนมา และสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวด้วย ซึ่งการนำเข้าของ กฟผ.ควรจะให้ใช้เฉพาะโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เท่านั้น ไม่ควรไปขายให้รายอื่น ซึ่งรวมถึงบริษัทลูกของ กฟผ.-สำนักข่าวไทย