กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – คปภ.ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย นำ 8 บริษัทประกันร่วมตั้งกองกลาง เพื่อรับประกันภัยรถแท็กซี่ แก้ปัญหาปฏิเสธไม่รับประกันภัยให้รถแท็กซี่ เพราะที่ผ่านมารับประกันแล้วขาดทุน คิดเบี้ยประกันภัยราคาเดียวคันละ 12,500 บาท ยืนยันคนไทยป่วยจากเชื้อโคโรนาไวรัสได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการเข้าร่วมรับประกันภัยโครงการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ(แท็กซี่) ระหว่าง คปภ.กับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งนำ 8 บริษัทสมาชิกผู้รับประกันภัยแท็กซี่ร่วมลงนาม หลังจากนี้จะมีการจัดตั้งกองกลางหรือ Pool เพื่อประกันภัยรถแท็กซี่ และมีบริษัทไทยรับประกันภัยต่อจำกัด (มหาชน) เข้าร่วมรับประกันภัยต่อ พร้อมรับหน้าที่เป็นผู้บริหารกองกลางดังกล่าว เบี้ยประกันภัยรถแท็กซี่จะใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 3 กำหนดอัตราดอกเบี้ยประกันภัยราคาเดียว 12,500 บาทต่อคัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการรถแท็กซี่ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการและเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจประกันภัย
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการรับประกันภัยรถแท็กซี่ปี 2561 ปรากฏว่ามีจำนวนรถแท็กซี่จดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก 83, 960 คัน แต่มีประกันภัยรถยนต์เพียง 65,536 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของรถที่จดทะเบียน ดังนั้น หากรถแท็กซี่ทุกคันมีประกันภัยครบถ้วนจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่และผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ หรือหากมีผู้ประสบภัยก็จะได้รับความคุ้มครองทั้งจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยภาคสมัครใจอย่างครบถ้วน
จากการศึกษาข้อมูลต้นทุนการรับประกันภัยแท็กซี่ พบว่ามีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงถึงร้อยละ 92 ซึ่งสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 3 เท่า ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยขาดทุนจากการรับประกันภัยรถแท็กซี่ ประกอบกับเบี้ยประกันภัยที่บริษัทใช้รับประกันภัยนั้น ไม่สอดคล้องต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทประกันภัยหลีกเลี่ยงที่จะรับประกันภัยรถแท็กซี่ ทำให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ประสบปัญหาการทำประกันภัย
อย่างไรก็ตาม จากการร่วมกันกำหนดแนวทางการรับประกันภัย จึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งกองกลาง สำหรับการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างหรือรถแท็กซี่ โดยมีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมรับประกันภัยผ่าน 8 บริษัทประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัยจำกัด (มหาชน) และบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)
นายสุทธิพล กล่าวว่า จากการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทยและผู้ประกอบการสหกรณ์แท็กซี่ได้ข้อสรุปร่วมกันว่ากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจประเภท 3 เพื่อรับประกันภัยรถแท็กซี่ โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย 500,000 บาทต่อคน(เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ) ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกสูงสุด 400,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายไม่เกินคนละ 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลไม่เกินคนละ 50,000 บาท สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวม 5 คน รวมทั้งการประกันตัวผู้ขับขี่ 500,000 บาทต่อครั้ง โดยมีอัตราเบี้ยประกันภัย 12,500 บาทต่อคัน รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ซึ่งอัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าวยังไม่รวมค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ
นายสุทธิพล กล่าวยืนยันว่าประชาชนที่ทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันเดินทาง เมื่อเจ็บป่วยจากเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 จะได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ที่ได้ทำไว้กับบริษัทประกัน ซึ่งเรื่องนี้ คปภ.ได้เชิญสมาคมประภันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัยมาหารือแล้ว ได้ข้อยุติว่าประกันที่คุ้มครองโรคต่าง ๆ ให้คุ้มครองถึงการเจ็บป่วยจากเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ด้วย ส่วนประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น คปภ.เตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.).-สำนักข่าวไทย