กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – วันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตาว่า ร่างกฎหมายงบประมาณฯ ปี 2563 จะเป็นโมฆะหรือไม่ หลังเกิดกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน แนวทางคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ปมปัญหาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลังเกิดกรณีมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนกัน ระหว่างการพิจารณางบประมาณในวาระ 2 และ 3 ทำให้ร่างกฎหมายต้องหยุดชะงัก ซึ่งวิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า งบประมาณปี 2563 จะเป็นโมฆะหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ 3 ส.ส. คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ น.ส.ภริม พูลเจริญ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ที่ปรากฏเป็นข่าวเสียบบัตรแทนกัน ยื่นหนังสือชี้แจงพร้อมข้อมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจมี 2 แนวทาง คือ ให้ร่างกฎหมายงบประมาณฯ ตกไปทั้งฉบับ หรือชี้ให้เห็นปัญหาบางมาตราหรือเนื้อหา เพื่อให้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งนักวิชาการมองว่า ปัญหางบประมาณส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากต้องรื้อทั้งฉบับจะส่งผลกระทบมากกว่า
ขณะที่คณะรัฐมนตรีเตรียมพร้อมรอคำวินิจฉัย เพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่ให้เกิดความล่าช้าเสียหาย และได้เตรียมแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยไว้ทุกทาง
อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ตกไปทั้งฉบับ มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีได้เตรียมไว้ 2 แนวทาง คือ ให้เสนอสภาฯ พิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งจะทำให้ใช้เวลานานพอสมควร หรือใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 143 เนื่องจากกระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2563 สภาฯ ทำไม่เสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 105 วัน โดยเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ที่ผ่านมติ ครม. ให้วุฒิสภาลงมติรับรองใหม่อีกครั้ง
ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นไร ถือเป็นบทเรียนสำคัญ เพราะนอกจากการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อภาพลักษณ์สภาฯ แล้ว ยังกระทบต่องบประมาณของชาติ 3.2 ล้านล้านบาท ที่ต้องสะดุดล่าช้าออกไป. – สำนักข่าวไทย