กรุงเทพฯ 5 ก.พ. – กนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ช่วยประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 และภัยแล้ง หวังเสริมสภาพคล่องให้กับกลุ่มธุรกิจภาคครัวเรือน พร้อมเตรียมทบทวนจีดีพีใหม่ มี.ค.นี้
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงว่า การประชุม กนง.นัดแรกปี 2563 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1 เป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ซึ่งเริ่มใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง และภัยแล้ง ทำให้รายได้ครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอลงมาก
การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจที่จะช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องให้กับกลุ่มธุรกิจและการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนที่ได้รับกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง” นายทิตนันทิ์ กล่าว
ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก เพราะการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก ซึ่งเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.8 แต่รอประเมินผลกระทบก่อนและจะทบทวนในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ซึ่ง กนง.ได้ทำประมาณการไว้หลายกรณีทั้งกรณีฐานที่คาดว่าจะเป็น ( Best case ) กรณีที่เลวร้ายที่สุด ( Worst case) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาด เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท.ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.-สำนักข่าวไทย