ขอนแก่น 5 ก.พ.-การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น พัฒนาเครื่องต้นแบบสายพานลำเลียงยางก้อนถ้วย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
มหกรรมยางพาราท้องถิ่นและของดีเขตอีสานตอนบน ในงานวันเกษตรภาคอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องการสื่อสารไปยังเกษตรกรให้ทำสวนยางพาราในรูปแบบใหม่ ไม่เพียงนำเสนอการทำเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีรายได้เสริมยางพารา โดยเฉพาะช่วงปิดหน้ายาง ยังนำนวัตกรรมมาเป็นทางเลือกแก่เกษตรกร ได้แก่ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เหมาะกับหน้าแล้ง โดรนเพื่อการเกษตร ที่การยางแห่งประเทศไทยกำลังส่งเสริมให้มีการใช้พ่นสารเคมี เพื่อป้องกันและกำจัดโรคใบร่วงจากเชื้อราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสายพานลำเลียงยางก้อนถ้วย เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ขณะที่เกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดบึงกาฬ อดีตแชมป์กรีดยางระดับอาเซียน กระตุ้นให้เกษตรกรศึกษาวิธีการกรีดยางแบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้น้ำยางมาก หน้ายางเสียหายน้อย กรีดได้นานที่สุด
เครื่องต้นแบบสายพานลำเลียงยางก้อนถ้วย ถูกนำมาใช้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น พัฒนาขึ้นโดยการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น แก้ปัญหาขอบข้างต่ำ สายพานไม่มีอุปกรณ์ช่วยลำเลียง และเพิ่มความสูงของสายพาน สะดวกแก่การขนถ่ายขึ้นรถบรรทุก ช่วยให้ประหยัดเวลาถึง 6 ชั่วโมง ลดแรงงานจาก 10 เหลือ เพียง 4 คน
เกษตรกรกลุ่มนี้มีสมาชิก 82 คน พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 600 ไร่ พวกเขาพยายามพึ่งตัวเองมากขึ้น ด้วยการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่สวนยาง มีการจำหน่ายปัจจัยการผลิตแก่สมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นจากความสำเร็จ และเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังเพื่อนเกษตรกรต่างพื้นที่ กระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ระยะเริ่มต้น ดีเด่น ระดับจังหวัด เมื่อกลางปีที่แล้ว.-สำนักข่าวไทย