ศาลายา 3 ก.พ.-ดีเอสไอ จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ พุ่งเป้าคดีทางเทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง(MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ครอบคลุมถึงการร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนานวัตกรม สำหรับการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิศษ รวมทั้งร่วมกันพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนบุคลากร และทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และร่วมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา องค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์และระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อจะยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า การร่วมลงนามครั้งนี้ เป็นการยกระดับความร่วมมือที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นทั้งสองฝ่าย ได้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์และระบบสาร สนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ให้เกิดเป็นนวัตกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีพิศษเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ อันจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับ ดีเอสไอในฐานะที่พึ่งของประชาชน โดยจะเน้นหนักไปที่คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คดีความด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาข้อมูลและองค์ความรู้ด้านวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้หากมีคดีความดีเอสไอสามารถจะประสานเข้ามาขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทันที
ด้าน ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า เนื่องจากอาชญากรรมพิเศษ เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้และวิทยาการหลากหลายแขนงในการดำเนินการป้องกันและปราบปราม ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความพร้อมศักยภาพทางด้านวิชาการในหลากหลายสาขาวิชาจำนวนมาก อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ ที่มีมาตรฐานและทันสมัย จึงได้ร่วมเสริมพลังทางวิชาการของศาสตร์ต่างๆ เพื่อประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษของดีเอสไอ
โดยจะเน้นหนักใน4 ด้าน คือ ด้าน ICT หรือเทคโนโลยี ทางมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการให้ข้อมมูลความปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ,ทางวิศวกรรม ,สังคม ,และสิ่งแวดล้อม โดยจะให้ข้อมูลได้ทั้งในภาพกว้างและเชิงลึกเฉพาะด้าน เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ นำสู่การจับกุมคนร้ายไนคดีได้โดยไม่มีข้อสงสัยจากสังคม.-สำนักข่าวไทย