กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – ปลายปีนี้ กพท.เตรียมคุมเข้มบินโดรน หลัง ICAO ให้ความสำคัญ หวั่นการใช้โดรนกระทบมาตรฐานการบิน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ปีนี้มุ่งเน้นงานกำกับดูแลการบินพลเรือนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน โดยไฮไลท์ของปีนี้ ประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ 1.การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอนาคต ด้วยการกำกับดูแลการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของโดรนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ประกอบกับมีราคาถูก จึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการบินพลเรือน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยต่อชุมชน และการปฏิบัติการบินของสายการบินพาณิชย์ ด้านความมั่นคง และความเป็นส่วนตัวของประชาชน
นายจุฬา กล่าวว่า ปีนี้วางแผนให้มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAS license เพิ่มเติมจากประกาศผู้ควบคุมโดรนเดิมให้มีมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือน (ICAO) ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้วประมาณ 10,000 คน โดยมีทั้งการบินเพื่อการเกษตรและเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเตรียมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบินโดรนที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ใหม่ คาดจะสามารถประกาศใช้กฎหมายใหม่ภายในปลายปี 2563
นอกจากนี้ จะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของ กพท. เพื่อให้การออกใบอนุญาตนักบินโดรนเป็นเหมือนใบเบิกทางให้อุตสาหกรรมการบินโดรนของไทย และผู้ที่ต้องการบินโดรนอย่างมืออาชีพและเพื่อการพาณิชย์ โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตโดรนนี้ต้องได้รับการอบรมที่ถูกต้องจากสถาบันที่มีมาตรฐาน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงมีการจัดสอบเพื่อให้ได้นักบินโดรนที่มีคุณภาพ โดยจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI พิจาณาหลักสูตรการอบรม เพื่อรับรองสถาบันฝึกอบรมนักบินโดรนที่จัดตั้งโดย DTI ซึ่งจะเป็นสถาบันต้นแบบฝึกบินโดรนและให้บริการการฝึกบินที่ได้มาตรฐานให้กับประชาชน เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบการกำกับดูแลของอุตสาหกรรมและกิจกรรมการบินโดรนของประเทศไทย
2.การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ HEMS โดย กพท.มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้น สิ่งที่จะให้การส่งเสริมปี 2563 คือ การปลดล็อคให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2563 เพราะระยะเวลาในการขนส่งผู้ป่วย 1 ชั่วโมง ถือเป็น Golden Hour ที่มีค่า โดยได้ร่วมมือกับสถาบันการแพยท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่ง ทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย โดย HEMS มีจุดเด่น คือ สามารถเข้าถึงผู้ได้รับบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงหรือเจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ใกล้ขึ้น รับส่งผู้บาดเจ็บ หรือบุคลากรทางการแพทย์นอกเขตสนามบินได้ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตมากยิ่งขึ้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ด้านการบินสากล และมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเชื่อว่าแผนงานปีนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
ด้านภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยนั้น มีภาวะการเติบโตแบบชะลอตัวเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุถึงปัจจัยที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมสายการบินโลกว่ามีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ค่าจ้างบุคลากรที่สูงขึ้น เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการผลักดันการพัฒนาการบินพลเรือนให้มีความยั่งยืนทุกด้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงได้วางยุทธศาสตร์เชิงรุกปี 2562-2565 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. จัดให้มีและพัฒนาระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมรับการตรวจประเมิน และยกระดับมาตรฐานให้สองคล้องกับ ICAO 2. การนำกลไกการกำกับดูแลไปบังคับใช้อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการออกใบอนุญาต การตรวจติดตามมาตรฐาน การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด 3.ส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนทั้งในด้านความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการไทย 4.เสริมสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนขององค์กร ด้วยการเป็นองค์กรที่มีธรรมภิบาล บริหารทรัพยากรบุคคลให้ตรงตามความต้องการขององค์กร มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานให้มีความเป็นสากล และ 5.เป็นศูนย์กลางข้อมูล และองค์ความรู้ด้านการบินเพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม
ภาพรวมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าสถิติการขนส่งผู้โดยสารปี 2562 จะมีผู้โดยสาร 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 76.20 ล้านคน ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.3 โดยจากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับครึ่งปีหลังเป็นช่วงเทศกาล ทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมสายการบินของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) เพิ่มขึ้น 2 ราย จากเดิม 23 ราย ส่วนผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) เพิ่มขึ้น 3 ราย จากเดิม 40 ราย . – สำนักข่าวไทย